พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเยี่ยมกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่จ.สุรินทร์

โดย parichat_p

23 ส.ค. 2565

73 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์


วันนี้ เวลา 09.33 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานกิจกรรมตำบลระแงง (หนองหาร) อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา


ได้แก่ กลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" บ้านหนองไผ่ ตำบลระแงง ปัจจุบันมีสมาชิก 63 คน โดยในปี 2564 มีพื้นที่ปลูกข้าว 709 ไร่ มีผลผลิตผ่านเกณฑ์กว่า 324 ตัน , โครงการผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผลพระราชทานโดยชุมชน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ตำบลระแงง เพาะกิ่งพันธุ์ไม้ผล 10 ชนิด ในปี 2563-2564 ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นกิ่งพันธุ์พระราชทานไปแล้ว 9,368 กิ่งพันธุ์ คงเหลือ 4,250 กิ่งพันธุ์ , โครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ตำบลช่างปี่ ตำบลแตล และตำบลระแงง โดยพระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี และพืชอาหารให้ชุมชนนำไปปลูกริมถนน และที่สาธารณะในหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันดูแล เมื่อมีผลผลิตสามารถแบ่งปัน เพื่อบริโภคในชุมชน


ในการนี้ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปสื่อกก ของราษฎรบ้านหนองไผ่ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ส่งเสริมและต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยโครงการภัทรพัฒน์ ร่วมกับบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ภายใต้แบรนด์ Good Goods นำเสื่อกกมาออกแบบให้มีความทันสมัย


นอกจากนี้ ยังร่วมกับสาขาวิชาการออกแบบสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำโครงการพัฒนาการออกแบบอย่างยั่งยืน ใช้หลักการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างปราชญ์ท้องถิ่น นักศึกษา อาจารย์ ร่วมกันพัฒนา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกก ที่รักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้


โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสกับสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" สมาชิกโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" และกลุ่มทอเสื่อกก เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ


เวลา 11.23 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน บ้านหนองแคน ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ ที่ดำเนินการเมื่อปี 2563 เดิมพบปัญหามีพันธุ์ข้าวอื่นปะปนในแปลง จึงแก้ไขโดยให้สมาชิกไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อกำจัดเมล็ดพันธุ์ตกค้าง ปัจจุบันมีสมาชิก 33 ราย ในปี 2564 ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์คุณภาพ ส่งจำหน่ายให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ 12.9 ตัน


ในการนี้ ทอดพระเนตร การพัฒนาเสื่อกกของสมาชิกฯ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 จากเดิมทอเสื่อลายพื้นบ้านจำหน่ายผืนละ 100 บาท ต่อมาโครงการภัทรพัฒน์ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้ามาฝึกอบรม พัฒนาลวดลายใหม่ และแนะนำเทคนิคการใช้สี ประยุกต์ทอกับเศษผ้า ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กระเป๋า , เบาะรองนั่ง และประดับเฟอร์นิเจอร์ ช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งสมาชิกสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น


ทั้งนี้ ในปี 2556 มีพระราชดำริให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ เข้ามาส่งเสริม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นบ้านแก่สมาชิก 128 ราย ในโครงการส่งเสริมการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ด้วยว่านหอมแดง , ฝาง ,ครั่ง ,มะเกลือ ,แก่นเข และมูลช้าง โดยโครงการภัทรพัฒน์ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้ามาฝึกอบรมเทคนิคการย้อมเส้นไหม ทั้งช่วยออกแบบลายใหม่ อาทิ ลายลีลาวดี , ลายดอกหอม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตลอดจนอนุรักษ์การทอลายหางกระรอก ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย จังหวัดสุรินทร์


โอกาสนี้ มีพระราชดำรัส ชื่นชมการดำเนินงานและพระราชทานกำลังใจแก่ราษฎร ที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ บ้านหนองแคน ทรงตระหนักว่า การผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ต้องใช้ความมานะอดทน ความละเอียดประณีตในการผลิตทุกขั้นตอน แม้จะมีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ แต่ทำได้ดี หากทำสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นได้


จากนั้น เวลา 13.38 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านกุง อำเภอสำโรงทาบ ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานการผลิตและเก็บสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" มีสมาชิก 12 กลุ่ม 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ รวม 422 คน พื้นที่ปลูก 3,913 ไร่ ปีที่ผ่านมาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สำรองไว้เพื่อพระราชทานได้กว่า 1,390,000 ตัน


โดยทรงตระหนักว่า ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งใจ ทุ่มเท และมุ่งมั่นที่จะผลิตพันธุ์ข้าวให้ประณีต จึงมีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ซื้อพันธุ์ข้าวที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน นำมาสีเพื่อบรรจุเป็นข้าวสารสำหรับบริโภค ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ข้าวหอมมะลิ "จันกะผัก"


ด้านโครงการผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผลพระราชทานโดยชุมชน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ พบว่า สามารถผลิตกิ่งพันธุ์ได้ 10 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นมะม่วง หว้า และมะขามเปรี้ยว พระราชทานให้แก่ราษฎร และปลูกในพื้นที่สาธารณะไปแล้วกว่า 9,000 ต้น โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมการทำเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร พัฒนาการปลูกถั่วลิสงพันธุ์ "ขอนแก่น 6" เริ่มปลูกในปี 2563


ซึ่งปลูกได้ดี เมล็ดใหญ่ , กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมการทำสูตรปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อพระราชทานแก่ราษฎร อาทิ เครื่องอัดฟาง , รถเกี่ยวข้าว และเครื่องพ่นสารชีวภาพ ซึ่งจะช่วยทดแทนแรงงานคน เพิ่มความรวดเร็ว ทำงานได้ทันฤดูกาล


ส่วนการใช้น้ำจากสระน้ำพระราชทาน ปัจจุบันสำนักงานสารสนเทศ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในสระ ให้เพียงพอแก่การเพาะปลูก ขณะนี้ราษฎร เริ่มอ่านระดับน้ำเป็น ใช้น้ำเพียงพอตลอดทั้งปี ในอนาคตจะพัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้ความรู้เรื่องการใช้น้ำ เพื่อการเพาะปลูกแก่เกษตรกรทั่วประเทศ


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการส่งเสริมอาชีพ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนา พัฒนาทักษะให้แก่ราษฎร มีสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชน ช่วยพัฒนาลายเสื่อกก พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ทดลองนำเสื่อกกแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการดำเนินโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ส่งผลให้ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดี มีคุณภาพ เกษตรกรมีความเข้าใจ และเอาใจใส่การทำนาอย่างละเอียดประณีต ทำให้พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงคงอยู่สืบไป


จากนั้น ได้มีพระราชปฏิสันถารกับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ กลุ่มสมาชิกบ้านขอนแก่น ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ , กลุ่มสมาชิกบ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ , กลุ่มสมาชิกบ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ , กลุ่มสมาชิกบ้านหนองไผ่ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ , กลุ่มสมาชิกบ้านโคกไทรงาม ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ , กลุ่มสมาชิกบ้านกันโจรง ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระ และกลุ่มราษฎรบ้านฮ็อง ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง เพื่อพระราชทานกำลังใจ ให้เกิดความมานะ ตั้งใจผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน ไว้ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรที่ประสบภัยเดือดร้อน และเผชิญความทุกข์ยาก