พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ให้ทูตแคนาดาทูตเฝ้าฯ และทรงเป็นประธานการลงนามกับจีน

โดย paweena_c

19 ส.ค. 2565

25 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจดังนี้


วันนี้ เวลา 10.9 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางซาราห์ เทย์เลอร์ (Mrs. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน ด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแคนาดา


เวลา 14.5 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ในโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก และด้านการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างหน่วยงานของประเทศไทย กับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน


ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) จำนวน 2 โครงการ ดังนี้ 1.ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก


ซึ่งมูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานไทย 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยบูรพา, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน หรือ พี อา ไอ ซี (PRIC) ได้พัฒนาความร่วมมือในการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ตั้งแต่ปี 2559


ในความร่วมมือนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทย จำนวน 10 คน ได้เดินทางไปร่วมสำรวจและศึกษาวิจัยในพื้นที่ทวีปแอนตาร์กติก ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของจีน ทุกปี ปีละ 1-2 คน โดยเดินทางร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน หรือ CHINARE


เกิดความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกในด้านต่าง ๆ เพื่อรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือลดผลกระทบ ที่อาจมีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงต่อระบบนิเวศทางทะเล และสามารถนำข้อมูลและความรู้จากการศึกษาวิจัย มาใช้ประกอบการวางแผนป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ในอนาคต


2.ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ก.พ. กับมหาวิทยาลัยแห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน หรือ ยูแคส(UCAS) ในการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศไทยไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ UCAS ที่ดำเนินงานมานานตั้งแต่ปี 2552 มีผู้ได้รับทุนการศึกษารวม 43 คน


สำเร็จการศึกษากลับมาทำงานในประเทศไทยแล้ว 19 คน อยู่ในส่วนราชการ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัย ความร่วมมือนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยผลิตบุคลากรระดับสูง ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทยที่ยังขาดแคลน แต่ยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ อาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน


ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในสาขาต่าง ๆ อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ดาราศาสตร์