พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยาย พระราชทานแก่นศ.แพทย์ ปี 4 ม.มหิดล ปีการศึกษา 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์

โดย parichat_p

29 มิ.ย. 2565

70 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยาย พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


วันนี้ เวลา 13 นาฬิกา 30 นาที สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ อาคารปฏิบัติการวิจัย บริเวณตำหนักพิมานมาศ จังหวัดชลบุรี ทรงบรรยาย ในรายวิชาเรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง : Oncogenesis (อองโคจีเนซิส)" พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


สำหรับหัวข้อที่ 1 และ 2 ที่ทรงบรรยายในวันนี้ เป็นเรื่อง "กระบวนการและขั้นตอนของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง ซึ่งประกอบด้วยหลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเริ่มต้น ขั้นก่อตัว และขั้นกระจายตัว ทรงกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกการเกิดมะเร็งจากสารเคมีในขั้นเริ่มต้น ซึ่งแยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ


รูปแบบที่ 1. กลไกที่มีการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยทรงยกตัวอย่างสารก่อมะเร็งที่ทำลายดีเอ็นเอโดยตรง ได้แก่ สารอะ-ฟลา-ท๊อกซิน สารพิษจากเชื้อราพบได้ในเมล็ดธัญพืชชนิดต่าง ๆ และสารไนโตรซามีน พบในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ


รูปแบบที่ 2. กลไกที่ไม่ได้มีการทำลายดีเอ็นเอโดยตรง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อี-ปิค-เจ-เน-ติก-แมค-คา-นิ-ซึม(Epigenetic mechanism) กลไกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ ซึ่งถ้าผิดปกติจะนำไปสู่การเกิดมะเร็ง


เมื่อเซลล์เริ่มเกิดการกลายพันธุ์แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นก่อตัว โดยเซลล์ที่กลายพันธุ์ จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย และเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติมากขึ้น โดยเซลล์ที่เจริญรวดเร็วและผิดปกติมาก จะคงอยู่และขยายจำนวน โดยเข้าสู่ขั้นกระจายตัว ซึ่งมีการกลายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นเซลล์ส่วนใหญ่ในก้อนมะเร็งนั้น


โดยในช่วงแรกจะอยู่รวมกันในบริเวณที่เกิดมะเร็ง ซึ่งหากตรวจพบในระยะแรก ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้ เซลล์มะเร็งจะเริ่มรุกล้ำไปยังบริเวณใกล้เคียง และกระจายต่อโดยผ่านระบบหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไป จึงทำให้แพร่กระจายไปหลายระบบในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต


ในช่วงท้ายทรงบรรยายเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาของของเซลล์มะเร็ง ที่มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ มีการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถคงอยู่ถาวรโดยไม่ตาย มีการเปลี่ยนแปลงในโปรตีน เช่น ตัวที่ทำให้การเกาะตัวของเซลล์เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยทรงยกตัวอย่างประกอบตลอดการบรรยาย ทำให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายขึ้น