พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค ครั้งที่ 13

โดย kodchaporn_j

13 มิ.ย. 2565

29 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค ครั้งที่ 13



วันนี้ เวลา 17.40 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ทรงเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค ครั้งที่ 13 International Particle Accelerator Conference 2022 หรืองาน IPAC 2022 เป็นการประชุมวิชาการด้านเครื่องเร่งอนุภาคที่มีความสำคัญและใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ ประเทศไทย



โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ระหว่างวันที่ 12 - 17 มิถุนายน 2565 ภายในงาน นำเสนอข้อมูลการวิจัยและข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วโลก รวมทั้งการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี ไปประยุกต์ใช้จริงในห้องปฏิบัติการ และในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย รุ่นใหม่ได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีผู้ส่งบทคัดย่องานวิจัยมากกว่า 1,900 เรื่อง



โอกาสนี้ ทรงฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ Growing Expectations for New Physics โดยนายคริส พอลลี (Chris Polly) นักฟิสิกส์จากสหรัฐอเมริกา และหัวข้อ SPS-II: A 4th Generation Synchrotron Light Source in Southeast Asia โดยนางสาวประไพวรรณ สันวงศ์ หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)



จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ โครงการในพระราชดำริ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนห้องปฏิบัติการฟิสิกส์พลังงานสูง และห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในหลายประเทศ และทรงเป็นผู้นำ ให้เกิดความร่วมมือทางการวิจัยฟิสิกส์พลังงานสูง กับสถาบันต่างประเทศ



อาทิ โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น และโครงการความร่วมมือกับสถาบันวิจัยไอออนหนักเฮล์มโฮลทซ์จีเอสไอ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกทั้งยังมีความร่วมมือวิจัยระหว่างสถาบันฯ จากประเทศต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อาทิ ความร่วมมือวิจัยระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเซิร์น , ความร่วมมือวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสถาบันเดซีและสถาบันวิจัยไอออนหนักเฮล์มโฮลทซ์จีเอสไอ



พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรการรายงาน จากผู้ร่วมกิจกรรม ครู นักศึกษาและนักเรียน ในโครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น และนิทรรศการเกม จากเซิร์น ซึ่งเป็นเกมรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ , นิทรรศการนักวิทยาศาสตร์น้อย ท่องแดนซินโครตรอน โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับโรงเรียนจิตรลดา และนิทรรศการความ ก้าวหน้าทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคของไทย



อาทิ โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3,000,000,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ และงานต้นแบบชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ที่จะสร้างขึ้น ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยอง