พระราชสำนัก

ในหลวง - พระราชินี เสด็จฯ ไปในงานกาลาดินเนอร์ โครงการ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง

โดย kodchaporn_j

31 พ.ค. 2565

236 views

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในงานกาลาดินเนอร์ โครงการ "สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565"



วานนี้ เวลา 19.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ



ซึ่งจัดแสดงพระฉายาลักษณ์ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสเรื่องผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงตรานกยูงพระราชทาน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน สัญลักษณ์นกยูงไทย 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง, นกยูงสีเงิน, นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย



นอกจากนี้ ยังแสดงประวัติความเป็นมา ของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ สสธวท และองค์กรสมาชิกของสหพันธ์สมาคมฯ ตลอดจนภาพ 90 ต้นแบบผ้าไทย พร้อมข้อคิดและแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วม ส่งเสริม และสนับสนุนผ้าไทย



จากนั้น ทรงเป็นประธานงานกาลาดินเนอร์ โครงการ "สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565"



ซึ่งสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ไทยนิยม" เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย



ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทย ให้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ โอกาสนี้พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานฯ และผู้เป็นต้นแบบสนับสนุนการใช้ผ้าไทย "90 ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์" เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และส่งเสริมบุคคลให้เป็นผู้สืบสานภารกิจด้านผ้าไทย ให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ที่งดงาม ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยสืบไป



โดยได้กำหนดแนวทางให้ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ 9 ประเภท ได้แก่ นฤมิตภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบแห่งการถักทอผ้าไทย, จินตภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบแห่งการออกแบบลวดลายผ้าไทย, เชิดชูภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบแห่งการเชิดชู สนับสนุนและต่อยอดผ้าไทย, วิวัฒน์ภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบแห่งการพัฒนาผ้าไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี



บูรณาภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบแห่งการดีไซน์ผ้าไทย (ดีไซเนอร์), เอกวลัญชน์ภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบผู้นำในการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย, สสธวท สานธำรงภูษาสง่าศิลป์....ต้นแบบสมาชิก สสธวท ผู้สืบสานการสวมใส่ผ้าไทย, สตรีรักษ์ภูษาสง่าศิลป์...ต้นแบบสตรี แห่งความภาคภูมิใจในผ้าไทย (สตรีซึ่งสวมใส่ผ้าไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี) และบุรุษรักษ์ภูษาสง่าศิลป์....ต้นแบบบุรุษ แห่งความภาคภูมิใจในผ้าไทย (บุรุษซึ่งสวมใส่ผ้าไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี)



พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรการถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยคณะกรรมการฯ และการแสดงชุด "สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์" ประกอบด้วย วีดิทัศน์ ชุด "90 ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์" และ "การแสดงแบบเสื้อชุดผ้าไทย "สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ ผ้าไทยร่วมสมัย ไทยนิยม"



โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และคงไว้ซึ่งเสน่ห์ความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม สร้างความนิยมและความภาคภูมิใจ ในการสวมใส่ผ้าไทยได้จริงในชีวิตประจำวัน สร้างกระแสนิยม รวมทั้งต่อยอดให้ผ้าไทย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศ และสู่สากล ผ่านเครือข่ายองค์กรสมาชิกนานาประเทศ



ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ จะดำเนินการต่อยอด กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในเรื่องของการส่งเสริมผ้าไทย โดยนําเสนออัตลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความภาคภูมิใจ และการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย