พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จ.สกลนคร

โดย parichat_p

6 พ.ค. 2565

36 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร


วันนี้ เวลา 8 นาฬิกา 2 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่มีการศึกษาทดลอง และงานวิจัยกว่า 280 เรื่อง


มีผลสําเร็จที่โดดเด่น 26 หลักสูตร ขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ 22 หมู่บ้าน พื้นที่ศูนย์สาขา 4 แห่ง มีเกษตรกรต้นแบบและเครือข่าย 36 แห่ง ใน 18 อําเภอ และมีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดําริอีก 37 แห่ง


ที่อาคารเทิดพระเกียรติ 84 พรรษา ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการงานศิลป์ แสดงภาพความประทับใจ เป็นภาพถ่าย และภาพวาดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสกลนคร มีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 255 แห่ง แยกเป็นโครงการขนาดใหญ่ 3 แห่ง


โครงการขนาดกลาง 41 แห่ง และโครงการขนาดเล็ก 211 แห่ง ส่วนการบริหารจัดการน้ำของศูนย์ฯ มีอ่างเก็บน้ำห้วยตาดไฮใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ เช่น งานส่งเสริมและพัฒนาด้านสาธารณสุข เน้นการนำสมุนไพรผลิตเป็นยา , งานวนเกษตร มีแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ และสมุนไพรพื้นบ้าน , งานเกษตรผสมผสาน เน้นการพึ่งพาตนเอง เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง


ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นหนึ่งใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกร ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โอกาสนี้ปล่อยพันธุ์ปลากินพืช 999 ตัว ลงในฝายตา-ยอด เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์


จากนั้น ทอดพระเนตรงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ คือ การสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ทรัพยากร มีการฝึกอบรมและตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า , งานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีการสำรวจพรรณไม้ และปลูกรักษาไว้ 445 ชนิด รวมถึงความหลากหลายของเห็ดป่าที่มี 157 ชนิด และการขยายผลงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ที่ให้เกษตรกรปลูกป่าในพื้นที่ของตนเอง ในรูปแบบ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และ ป่า 5 ชั้น ปัจจุบันพัฒนาต่อยอด เติมเชื้อเห็ดระโงกเหลืองในกล้ายางนา มอบให้เกษตรกรนำไปปลูก 500 ราย สร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี


ส่วนกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน , งานศึกษาและพัฒนาด้านข้าว มีการขึ้นทะเบียนข้าวพันธุ์ภูพาน 1 เป็นข้าวเหนียวที่ปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนได้ดี ซึ่งกรมการข้าว จะได้ปรับปรุงโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกให้เกษตรกรได้มากขึ้น


ด้านงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ มี 4 ดำมหัศจรรย์ ได้แก่ ไก่ดำภูพาน , สุกรดำภูพาน โคดำภูพาน และกระต่ายดำภูพาน ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ และเพาะขยายเพื่อแจกให้เกษตรกร



โอกาสนี้ ทอดพระเนตร ผลิตภัณฑ์จากแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และการดำเนินงานของศูนย์ฯ สาขา 4 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครพนม , โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร , โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์ และศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ


ด้านการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประเภทโรงเรียน ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยเฉพาะที่โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์สมบูรณ์วิทย์ "หลวงปู่ภูพานอุปถัมภ์" เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ทางศูนย์ฯ เข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงทำแปลงเกษตร จัดหาแหล่งน้ำ ผ่านมาแล้ว 3 ปี สามารถเก็บพืชผักประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียนครบ 3 มื้อ


ที่อาคาร Information ทอดพระเนตรงานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว และการผลิตผ้าไหมย้อมครามครบวงจร มีการฝึกอบรมด้านการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ต่อยอดเป็นกลุ่มทอผ้าไหมย้อมคราม และสีธรรมชาติในหลายชุมชน โอกาสนี้ ทรงวาดภาพนกเค้าแมว พระราชทานให้แก่ศูนย์ฯ เชิญไปเป็นสัญลักษณ์ประจำศูนย์ฯ ประดับบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป


สำหรับแนวทางการดําเนินงานในอนาคต จะพัฒนาไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรางวัล อาทิ รางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 และรางวัลพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม ประจำปี 2564 จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายลลิต ถนอมสิงห์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเลขาธิการ กปร. นำนายกานต์ คำทะเนตร และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโฉนดที่ดินเลขที่ 55218 เนื้อที่ 31 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของศูนย์ต่อไป


จากนั้น พระราชทานพระราโชวาท แก่คณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในศูนย์ฯและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยทรงชื่นชมการดำเนินงานร่วมกัน ของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ปฏิบัติงาน และบูรณาการงานเข้าด้วยกัน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป


เวลา 13 นาฬิกา 59 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี กรมทหารราบที่ 3 ค่ายกฤษณ์สีวะรา อำเภอเมือง ซึ่งเข้าร่วมโครงการทหารพันธุ์ดี เมื่อปี 2563 โดยปรับเปลี่ยนสนามฝึกของหน่วย รวม 19 ไร่ เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริ


ในการนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ แปลงปลูกผักปลอดภัย เพื่อการบริโภค และทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก บนเนื้อที่ 2 ไร่ รวม 46 แปลง แบ่งเป็นพันธุ์ผักพระราชทาน 12 ชนิด และผักพื้นบ้าน 10 ชนิด มีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาให้ความรู้การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ที่เหมาะกับการปลูกผักปลอดภัย 3 วิธี ได้แก่ ใช้กาวเหลืองดักแมลง สารสกัดสะเดา และเชื้อราไตรโคเดอร์มาร์ , โครงการทดลองเลี้ยงกบจานนา ที่ทดลองเลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ และบ่อดิน


โอกาสนี้ พระราชทานพ่อแม่พันธุ์กบทุ่งกุลา จำนวน 20 คู่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" อีสานเหนือ กรมทหารราบที่ 3 ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายไก่ดำภูพาน จำนวน 10 ตัว


โดยพระราชทานให้แก่โครงการทหารพันธุ์ดี กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 3 อธิบดีกรมปศุสัตว์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพ่อแม่พันธุ์เป็ดกบินทร์บุรี จำนวน 10 คู่ พันธุ์บางปะกง 10 คู่ และพระราชทาน เพื่อจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์เป็ดพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" กรมทหารราบที่ 3 โดยโครงการฯ ได้รับน้ำเพื่อการเกษตรจากเขื่อนน้ำอูน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการ


ในการนี้ ทอดพระเนตรการเลี้ยงปลานิลจิตรลดา โดยทรงปล่อยปลานิลจิตรลดา จำนวน 4,900 ตัว ลงสู่บ่อเลี้ยงในโครงการฯ เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ปัจจุบันมีหน่วยงานของกองพลทหารราบที่ 3 เข้าร่วมโครงการทหารพันธุ์ดี 5 หน่วย และอยู่ระหว่างขอรับอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ 16 หน่วย ที่ผ่านมา ได้ทดลองแจกจ่ายผลผลิตของโครงการทหารพันธุ์ดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนไปแล้ว


อาทิ ทดลองแจกจ่ายลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดา รวม 20,000 ตัว , ขยายผลผ่านโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ไปยังครอบครัวกำลังพล และประชาชนตามพื้นที่ชายแดน 5 จังหวัด จำนวน 543 ครอบครัว และโครงการทหารพันธุ์ดี ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย มีโรงเรียนที่หน่วยรับผิดชอบ 36 โรงเรียน


เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที ประทับรถรางพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงติดตามผลการดำเนินงาน โครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 29 ค่ายกฤษณ์สีวะรา เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2563 บนพื้นที่ 78 ไร่ อาทิ กิจกรรมแปลงเกษตร , ปศุสัตว์ , ประมง , อาคารโรงเรือนเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่บางปะกง , ไก่กระดูกดำ และไก่ดำภูพาน


โอกาสนี้ ทรงปล่อยปลานิลจิตรลดา ที่พระราชทานแก่โครงการ จำนวน 5,900 ตัว ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย นอกจากนี้ยังได้เลี้ยงปลาในบ่อธรรมชาติ อาทิ ปลาตะเพียน , ปลานวลจันทร์ , ปลายี่สก และปลาจีน ซึ่งกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนพันธุ์ปลา 200 ตัว ปัจจุบันขยายพันธุ์ได้กว่า 6,000 ตัว


สำหรับโครงการปลูกฟ้าทะลายโจร ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา ทดลองปลูกบนพื้นที่ 500 ตารางเมตร โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอาจารย์ฝั้นอาจาโร ช่วยถ่ายทอดวิธีการปลูก ภายใต้การควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GMP เพื่อให้ได้สารสำคัญ ที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ และบรรเทาอาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดำเนินการปลูกแล้ว 60 วัน เหลืออีก 30 วัน จะสามารถเก็บผลผลิต ส่งให้โรงพยาบาลอาจารย์ฝั้นฯ เพื่อแปรรูปผลิตเป็นแคปซูล และจำหน่ายต่อไป


ส่วนกิจกรรมปลูกผักปลอดภัย ได้ปลูกเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน จำนวน 9 ชนิด บนพื้นที่ 60 แปลง อาทิ บวบเหลี่ยม , บวบงู , ถั่วพู, ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ผลผลิตส่วนหนึ่งนำไปประกอบอาหารให้ทหารกองประจำการ และจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาย่อมเยา พร้อมขยายผล "โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" สู่ชุมชนรอบค่ายอีกด้วย


จากนั้น ทรงฟังการกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 28 ค่ายศรีสองรัก จังหวัดเลย และโครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนม


ในการนี้ มีพระราชดำรัสกับทหารพันธุ์ดี ค่ายกฤษณ์สีวะรา โดยทรงให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร รวมทั้งปัจจัยเรื่องการเพาะปลูก ทั้งอุปกรณ์ และเทคโนโลยี ที่มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น