พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ม.มหาสารคาม ปีการศึกษา 2563 - 2564

โดย parichat_p

20 เม.ย. 2565

38 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2563 - 2564 เป็นวันแรก


วันนี้ เวลา 8 นาฬิกา 51 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 -2564 เป็นวันแรก


ในการนี้ พระราชทานปริญญาบัตรแด่พระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษา และรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ แด่พระสงฆ์ผู้ทำประโยชน์ พร้อมกับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ , พระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ,รางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ แก่ศิษย์เก่า และบุคคลดีเด่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงทุนภูมิพล ประจำปีการศึกษา 2564 แก่นักศึกษา


สำหรับวันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษา รับพระราชทานปริญญาบัตร ในระดับปริญญาเอก ,ปริญญาโท และปริญญาตรี จำนวน 3,761 คน


มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งขับเคลื่อนและบริหารจัดการในทุกด้าน เน้นสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งด้านอาหาร การเกษตรและปศุสัตว์ ด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทาง และศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย


โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า "ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นผู้มีเกียรติอันน่าภาคภูมิใจ เพราะมีวิชาความรู้เป็นสมบัติประจำตน วิชาความรู้ ที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้ ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ แต่ละคน ควรนำความรู้ไปใช้ด้วยความรัก ความพอใจ ความมุ่งมั่นพากเพียร ความเอาใจใส่รับผิดชอบ และวิจารณญาณ


กล่าวคือ ต้องมีความรักความพอใจและศรัทธาเชื่อมั่นในงาน และในสิ่งที่พิจารณาแล้วว่า เป็นคุณเป็นประโยชน์ ต้องมีความมุ่งมั่นพากเพียร ที่จะปฏิบัติงานนั้นสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วง ต้องมีความเอาใจใส่รับผิดชอบ มีใจจดจ่อต่อหน้าที่ ที่ต้องกระทำ ต้องมีวิจารณญาณ หมั่นพิจารณาทบทวนงานที่ทำ


รวมทั้งความประพฤติปฏิบัติของตนอยู่เสมอ จะได้นำความรู้ มาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาให้ดีให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าทำได้ดังนี้ บัณฑิตก็จะสามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จ ในชีวิตและหน้าที่การงาน อันจะส่งผลให้สังคมส่วนรวม เจริญวัฒนาขึ้นได้อย่างยั่งยืน"