พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในจ.เชียงใหม่

โดย kodchaporn_j

25 มี.ค. 2565

44 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่



วันนี้ เวลา 09.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งที่ 5 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525



เพื่อพลิกฟื้นสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรม ให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางทำการศึกษา หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่ความรู้สู่ราษฎร ในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ในลักษณะ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ตลอดระยะเวลา 39 ปี ของการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณที่สมบูรณ์ ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ และแหล่งพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม สร้างความมั่นคงให้แก่ราษฎรได้อย่างยั่งยืน



ขณะที่ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 มีการปรับปรุงพลับพลาทรงงานเดิมเมื่อปี 2558 เพื่อให้มีสภาพเหมือน เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน เมื่อปี 2527



โอกาสนี้ ทอดพระเนตร "หอเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์การก่อตั้งศูนย์ศึกษาฯ , บันทึกแนวพระราชดำริ , ภาพพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในลักษณะสื่อผสมผสานที่ทันสมัย



จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผลสำเร็จของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินตามวิสัยทัศน์การพัฒนา ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตร มีอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ทำหน้าที่กระจายน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 , อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 5 และอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 7



รวมความจุกว่า 3 แสนลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ลาดชัน ได้ติดตั้งกล่อง Gabion บรรจุหิน เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ส่วนชั้นถัดไปปรับแต่งดินเป็นขั้นบันได ปลูกหญ้าแฝก ช่วยชะลอการไหลของน้ำ นอกจากนี้ข้างทางในป่า ยังมีกองปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้ง ที่ได้จากการทำแนวกันไฟ มาอัดเป็นก้อนใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติด้วย



ด้านงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ มีการเพาะกล้าไม้แจกจ่าย เพื่อนำไปปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า และมีป่าไผ่มากถึง 23 สายพันธุ์ ช่วยยึดดินและชะลอการไหลของน้ำ , นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สาธิต ศึกษาดูงานการปลูกป่า 5 ระดับ ได้แก่ พืชมีหัวใต้ดิน , พืชไม้เลื้อย , พืชไม้พุ่ม ,ไม้ยืนต้นขนาดกลาง และไม้ยืนต้นสูง



รวมถึงการศึกษาระบบนิเวศลุ่มน้ำ ภายในศูนย์ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ดูการพัฒนาป่าไม้ ในระยะทาง 150 เมตร และ 1.5 กิโลเมตร เป็นการเดินตามเส้นทาง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระดำเนินเมื่อครั้งทรงงาน และจุดสำคัญ 11 จุด ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของน้ำ เพื่อการพัฒนาสภาพป่าที่สมบูรณ์ และเกื้อหนุนให้กับประชาชน



ที่อาคารอำนวยการ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของศูนย์ฯ อาทิ สบู่นมแพะ สบู่เชียงดา ชาเห็ดหัวลิง ที่ฝึกอบรมให้แก่เกษตรกร กับราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ที่ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งผลการดำเนินงานในลักษณะการสาธิต ,อบรมด้านวิชาการและปฏิบัติ โดยนำผลสำเร็จของศูนย์ศึกษา จำนวน 22 เรื่อง จัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรม 34 หลักสูตร



อาทิ หลักสูตรผักปลอดภัยปลอดสารพิษเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน , หลักสูตรเห็ดเศรษฐกิจทำง่ายรายได้ดี , การเพาะขยายพันธุ์แพะพระราชทาน 5 สายพันธุ์ ในการนี้พระราชทานชื่อแก่ลูกแพะ อายุ 2 เดือน ว่า "เบญจพันธุ์" นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการเลี้ยงกบนาโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ และหลักสูตรการปลูก การแปรรูปผักเชียงดาเพื่อการค้า



ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และใช้รถเคลื่อนที่ (Mobile Unit) เข้าสู่ชุมชน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานรับรองการปลอดสารพิษ ซึ่งเปิดช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ด้วย



โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท แก่ข้าราชการและคณะทำงาน โดยทรงชื่นชมที่ทุกส่วนร่วมกันปฏิบัติงาน จนเกิดผลสำเร็จ



จากนั้น ทรงปลูกต้นอินทนิลน้ำ และทรงปล่อยพันธุ์ปลาไทย 9 ชนิด อาทิ ปลากาดำ ปลาสร้อยนกเขา ปลาซ่า ลงสู่อ่างเก็บน้ำ เพื่อเพาะขยายพันธุ์ สำหรับใช้ในการศึกษา วิจัย และการสาธิตการเลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย ด้านดิน น้ำ ป่าไม้ และการเกษตร 266 โครงการ



โดยนำองค์ความรู้ เผยแพร่แก่เกษตรกรและผู้สนใจใน 18 หมู่บ้านรอบศูนย์ และขยายผลไปทั่ว 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีเกษตรกรตัวอย่าง 205 ราย ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 22 แห่ง และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายในภาครัฐ ชุมชน และสถานศึกษา 125 แห่ง



เวลา 12.58 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563-2564



โดยสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันเกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่วงวิชาการ ด้านการสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของประเทศเป็นอเนกประการ



ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ) จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow จำนวน 10 เครื่อง พร้อมทั้งพระราชทานอาหาร และสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนที่ถูกผลกระทบ ตลอดจนพระราชทานถุงกำลังใจ แก่บุคลากรทางการแพทย์



ในการนี้ ถวายปริญญาบัตรแด่พระสงฆ์ 5 รูป, พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน พระราชทานเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ 4 คน พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี รวม 2,728 คน



โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทความว่า "บัณฑิตทุกคน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ย่อมมีความพร้อมที่จะออกไปดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพการงานต่าง ๆ ตามความรู้ความถนัดและความสามารถของตน ในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน ให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมนั้น แต่ละคนต้องรู้จักนำหลักวิชาไปปรับใช้



พร้อมทั้งหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงพัฒนาตนพัฒนางานให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ข้อสำคัญ ต้องประพฤติตนปฏิบัติงาน ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ ที่จะไม่ให้กระทบกระเทือนหรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น อันจะทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งแยกกัน หากจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน และพร้อมที่จะร่วมมือร่วมความคิดกันสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ส่วนรวม ถ้าทำได้ดังนี้ แต่ละคนก็จะดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานได้อย่างราบรื่น และบรรลุผลสำเร็จที่พึงประสงค์"