พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ม.บูรพา พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา-เปิดอาคารที่คณะเภสัชฯ

โดย panwilai_c

19 ม.ค. 2565

404 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี



วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 21 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารหอประชุมธำรง บัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 และ 2562 เป็นวันแรก ในการนี้ ถวายปริญญาบัตรแก่พระสงฆ์ 5 รูป แล้วพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน, พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท ปริญญาตรี จาก 23 คณะ และ 4 วิทยาลัย ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี รวมทั้งโครงการจัดตั้งคณะพาณิชยศาสตร์ และบริหารธุรกิจ รวม 2 พัน 930 คน



โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทความว่า "บัณฑิตทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่ละคนคงจะได้นำความรู้ทั้งปวงที่เล่าเรียนมา ไปสร้างสรรค์ความสำเร็จในหน้าที่การงานต่อไป แต่นอกจากความรู้ในหลักวิชาแล้ว การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการสร้างสรรค์ความสำเร็จ บัณฑิตทุกคนจึงต้องยึดมั่นในคุณธรรม ความสุจริต ประกอบกิจการงานด้วยความอดทนพากเพียร รู้หน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยเต็มกำลังความรู้ความสามารถ และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม หากบัณฑิตเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ และคุณธรรมดังกล่าวนี้ ความสำเร็จในการประกอบกิจการงานของแต่ละคน ก็จะประสานส่งเสริมกันเป็นความเจริญอันแท้จริงและยั่งยืนของประเทศชาติ"



ต่อมาเวลา 13 นาฬิกา 25 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังคณะเภสัชศาสตร์ ทรงเปิด "อาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์บูรพา" ซึ่งเป็นอาคารใช้ในการเรียนการสอน ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องบรรยาย, ห้องปฏิบัติการวิจัย, ศูนย์และสถานที่ผลิตเครื่องสำอางค์ เพื่อรองรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเครื่องสำอางค์ ที่จะเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปี 2565



นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการ ทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ภายใต้แผนปฏิบัติการ บูรณาการทางการแพทย์จีโนมิกส์ประเทศไทย รวมทั้งโรงงาน และศูนย์วิเคราะห์สารสกัดและยาสมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุน พัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพร ที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก



ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการของคณะเภสัชศาสตร์ อาทิ โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ที่ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ถึง 2562 มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 4 คน และกำลังศึกษา 8 คน, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก จากสารสกัดชันของชันโรง หรือผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน โดยจังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่หลักของการเลี้ยงชันโรง จากการวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์ พบว่าเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย ได้แก่ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงนำชันจากชันโรงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากที่มีคุณภาพ และถ่ายทอดให้เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ส่วนการพัฒนาและประเมินพลาสเตอร์ปิดแผลแบบเหลว ชนิดกันน้ำ ที่บรรจุสารสกัดใบสาบเสือ มีข้อดี คือ ใช้งานสะดวก มีความยืดหยุ่น เกาะผิวหนังได้ดี สามารถใช้กับรอยโรคทุกส่วนของร่างกาย



เวลา 14 นาฬิกา 2 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทรงเปิด "EEC Automation Park" ซึ่งจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของอีอีซี ภายใต้การกำกับดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก



โดยมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา และบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2562 เพื่อพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม นิสิต นักศึกษา และนักเรียน ให้มีทักษะด้านระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563



ภายใน "EEC Automation Park" มีการนำเสนอนิทรรศการ "ชุดสาธิตระบบอัตโนมัติการผลิต" จำลองระบบสายการผลิต ที่ผสมผสานการนำเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติโรงงาน และเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบ ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยแสดงความสามารถในการนำข้อมูลที่หลากหลายมาผสมผสาน เพื่อการวางแผนการผลิต การซ่อมบำรุงเครื่องจักร รวมทั้ง การบริหารจัดการงานได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ควบคุมและลดต้นทุนการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการการขนย้ายสินค้า ด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ, ระบบการจัดเก็บคลังสินค้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าในรูปแบบตะกร้า หรือกล่อง ด้วยความเร็วมากกว่า 500 กล่องต่อชั่วโมง และระบบอัตโนมัติช่วยหมอตรวจโควิด-19 ช่วยขนย้ายหลอดที่มีสารคัดหลั่ง สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด -19 ระบบนี้นอกจะอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคด้วย