พระราชสำนัก

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินและทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดย petchpawee_k

21 มี.ค. 2568

43 views

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

วานนี้ เวลา 17 นาฬิกา 24 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ช่วยบรรเทาความแออัดของผู้โดยสาร และปริมาณเที่ยวบิน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโต ของการเดินทางทางอากาศในอนาคต โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มาประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคาร

 อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เป็นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เริ่มเปิดให้บริการในปี 2566 มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 2 แสน 1 หมื่น 6 พันตารางเมตร ใช้การก่อสร้างระบบ Modular ที่ก่อสร้างได้รวดเร็วและใช้วัสดุที่ดูแลรักษาได้ง่าย เน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ ภายในอาคาร มีการออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลัก ที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย โดยเป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ซึ่งนำรถไฟฟ้าแบบไร้คนขับมาให้บริการผู้โดยสาร ในการเดินทางระหว่างอาคาร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 179 คนต่อขบวน , ชั้น B1 เป็นพื้นที่ห้องงานระบบ , ชั้น G เป็นพื้นที่สำหรับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระและพื้นที่สำนักงาน

 ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า และพื้นที่สำหรับผู้โดยสารเชื่อมต่อเที่ยวบิน มีการจัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย อาทิ หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน ว่าวไทย , ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก มีผลงานออกแบบชิ้นเอก คือ ช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลาง มีพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องเป็นแบบ Open Gate ออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ อาทิ กินรี เหมราช และหงส์สา , ชั้น 4 เป็นพื้นที่สำหรับห้องรับรองพิเศษผู้โดยสาร ห้องรับรองของสายการบิน และอื่น ๆ ส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย และปางเปิดโลก ถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว โดยมีหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด ในปี 2567 ได้รับรางวัล Prix Versailles ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลก สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร

และจากการจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างทางเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ยรองรับปริมาณเที่ยวบินได้วันละ 800 ถึง 1 พันเที่ยวบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "คมนาคมรวมใจ นำไทยสู่ศูนย์กลางการบิน" และแบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เต็มรูปแบบ) อาทิ นิทรรศการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และพระปรีชาสามารถด้านการบิน รวมถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการบินไทย , กระทรวงคมนาคม จัดแสดงนโยบายและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ , นิทรรศการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่บอกเล่าการดำเนินกิจการท่าอากาศยานไทย 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อว่า "สุวรรณภูมิ" อันมีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร เมื่อปี 2545 เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ปัจจุบัน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศ เชื่อมโยงประเทศไทยกับจุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก นำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/4x_8EPWPoog

Related News