เช็คสถานการณ์น้ำรายวัน กอนช.ชี้สัญญาณดี น้ำมีแนวโน้มลดลง ตั้งเป้าเคลียร์ได้ภายใน 20 วัน

สังคม

เช็คสถานการณ์น้ำรายวัน กอนช.ชี้สัญญาณดี น้ำมีแนวโน้มลดลง ตั้งเป้าเคลียร์ได้ภายใน 20 วัน

โดย thichaphat_d

1 ต.ค. 2564

227 views

วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ไล่ตั้งแต่น้ำเหนือ จากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนมาบรรจบพบกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิดโดยเฉพาะใน จ.ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร กับการบริหารจัดการน้ำของ 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6


ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับสถานการณ์บริเวณแม่น้ำปิง ที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเขื่อนภูมิพล ที่ปริมาณน้ำไหลผ่านมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มวลน้ำที่จะไหลรวมกันลงสู่พื้นที่ตอนล่างน้อยลงตามลำดับ


โดยจากการติดตามสถานการณ์ ณ สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ มวลน้ำจาก จ.นครสวรรค์ จะไหลลงมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง โดยวันที่ 29 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา แม่น้ำสะแกกรัง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 412 ลบ.ม./วิ แต่เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) ลดลงเหลือ 393 ลบ.ม./วิ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ของทุกสถานีวัดน้ำดังกล่าวส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งบ่งบอกว่าปริมาณของน้ำที่จะไหลมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง


ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเร่งระบายน้ำออกทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อรักษาระดับน้ำที่จะปล่อยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับคงที่และไม่สูงมากจนเกินไปนัก โดยจะเร่งรัดการระบายน้ำให้คลี่คลายภายใน 20 วัน


พร้อมกันนี้ กอนช. ได้มีการประกาศเฝ้าระวังและดูแลในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ปริมาณน้ำจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ได้ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือได้กว่า 1,800 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,200 ล้าน ลบ.ม. และในภาคกลาง กว่า 700 ล้าน ลบ.ม.



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/iPT2TLDhEMg

คุณอาจสนใจ

Related News