'อนุทิน' มั่นใจฉีดไฟเซอร์ นร.12-17 ปี ปลอดภัย - แพทย์เตือนอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดในเด็ก

สังคม

'อนุทิน' มั่นใจฉีดไฟเซอร์ นร.12-17 ปี ปลอดภัย - แพทย์เตือนอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดในเด็ก

โดย thichaphat_d

23 ก.ย. 2564

104 views

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 64) เพจ 'MedPark Hospital – โรงพยาบาลเมดพาร์ค' เปิดจองวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ราคา 3,300 บาท จำนวน 2 เข็ม โดยทางโรงพยาบาลฯ คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณไตรมาสที่ 1-2 ปี 2565 


ทางด้านวัคซีนซิโนฟาร์ม นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. พิจารณาอนุญาตวัคซีนจากข้อมูลความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลการวิจัยของวัคซีนที่เพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผล


ซึ่งขณะนี้ มีวัคซีนโควิด-19 ที่ อย. อนุญาตให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ขึ้นไปแล้ว จำนวน 2 ชนิด คือ วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา


ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์ม คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของ อย. ได้พิจารณาแล้วว่า ยังไม่สามารถอนุญาตให้ขยายการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปได้ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่การไม่อนุญาต โดย อย. อยู่ระหว่างรอการจัดส่งข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลเพิ่มเติมจากบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งหากบริษัทฯ ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติมครบถ้วน อย. พร้อมเร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว


ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียน ล็อกแรก 2 ล้านโดส จะมาถึงไทยวันที่ 29 ก.ย. 64 โดยอีก 30 ล้านโดสจะมาถึงช่วงเดือนธันวาคม โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะฉีดให้กับนักเรียนทันทีที่ผู้ปกครองอนุญาต พร้อมยืนยันว่า วัคซีนทุกยี่ห้อมีความปลอดภัยหมด 


สำหรับการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ขอย้ำว่า ไม่ใช่เพราะเป็นวัคซีน mRNA แต่เป็นเพราะ ผู้ผลิตยืนยันว่าสามารถให้บริการผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ และมีการนำมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทยเป็นที่เรียบร้อย ประเทศไทย ต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด ก็ต้องตัดสินใจจัดหาเข้ามา ส่วนการจะให้บริการแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ก็ต้องรอให้ผู้ผลิตนำหลักฐานมาขึ้นทะเบียน และผ่านความเห็นชอบเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ หากบรรลุขั้นตอนเรียบร้อย ประเทศไทย ก็จะหาเข้ามาบริการอย่างแน่นอน


นอกจากนี้  นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้วางแผนมาตรการเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการวางแผนการเปิดภาคเรียนให้อยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพ พร้อมกับการวางแผนการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปีว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง


โดยเบื้องต้นศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ในการบูรณาการรวบรวมข้อมูลและชี้แจงทำความเข้าใจ ให้แก่ผู้ปกครองได้รับทราบถึงแนวทางการฉีดวัคซีน เพื่อประสานข้อมูลการฉีดวัคซีนร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด สำหรับข้อมูลนักเรียนที่ผู้ปกครองยินยอมให้เข้ารับวัคซีนคาดว่า จะรับทราบอย่างครบถ้วน ภายในสัปดาห์หน้าว่าจะมีจำนวนเท่าไร และแม้ว่าจะมีการเปิดเรียนรูปแบบ On-site แล้ว แต่หากผู้ปกครองยังมีความกังวลที่จะให้บุตร หลานมาเรียนที่โรงเรียนก็สามารถให้เรียนที่บ้านผ่านรูปแบบการเรียนอื่นๆ ได้เช่นกัน ศธ.ไม่มีการบังคับให้เด็กฉีดวัคซีน หรือมาเรียนที่โรงเรียน


ด้านนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในรายการ ศบค.ศธ.พบสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างวางมาตรการเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำมาตรการ SSS ในโรงเรียนประจำเป็นเฟสแรก มีการคัดกรองอย่างเคร่งครัด จัดทำระบบปิด และตอนนี้กำลังดูเฟสสองสำหรับโรงเรียนไปกลับ ที่อย่างน้อยต้องจัดพื้นที่การเรียนการสอนให้ปลอดภัยที่สุด


มาตรการที่ดำเนินการจะไม่ต่างจากโรงเรียนประจำ แต่อาจจะมีความละเอียดมากกว่า ยกตัวอย่าง 6 มาตรการหลัก เช่น ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม หรือแม้แต่วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ใช้อุปการณ์ตนเอง ไม่ใช้ร่วมคนอื่น อาหารต้องปรุงสุกตลอด เราต้องรีเช็คมาตรการเหล่านี้ตลอดเวลา


ปลัด ศธ. กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน นั้น ขอให้สถานศึกษาประชุมทำความเข้าใจผู้ปกครองภายในวันที่ 21-24 กันยายน พร้อมกับให้ผู้ปกครองกรอกเอกสารแสดงความประสงค์ฉีดวัคซีน และในวันที่ 25 กันยายนขอให้ส่งข้อมูล จำนวนนักเรียนไปยัง ศธจ. และวันที่ 26 กันยายน


จังหวัดจะรวบรวมตัวเลขนักเรียนที่ต้องการฉีดส่งให้สาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) และในวันที่ 27 กันยายน สธจ.จะส่งข้อมูลให้กรมควบคุมโรค จัดสรรวัคซีนให้แต่ละพื้นที่ต่อไป ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม สถานศึกษาจะทราบวันที่แน่นอนว่า สถานศึกษาจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในวันไหน และทำการนัดผู้ปกครองต่อไป


นายวิสิทธิ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การได้รับวัคซีนถือเป็นความหวังของสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนแบบปกติ ในภาคเรียนที่ 2/2564 ในส่วนของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เท่าที่ได้สำรวจความต้องการก็พบว่านักเรียนสนใจฉีดวัคซีนมากถึง 98%


“เท่าที่ทราบนักเรียนในระดับชั้นมัธยมมีความรู้ ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งจากการสอบถามผู้ปกครองส่วนใหญ่บอกว่านักเรียนเป็นคนหาข้อมูลและเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมด เพราะเด็กต้องการมาโรงเรียนตามปกติ สรุปแล้วผมเชื่อว่าถ้าเราประชาสัมพันธ์ให้ดี สื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจ ก็เชื่อว่าผู้ปกครองจะยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน 100% ” นายวิสิทธิ กล่าว


รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวชี้แจงกรณีพบอุบัติการณ์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 


โดยอาการที่พบบ่อยหลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ว่า จะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจแล้วรู้สึกแน่น เหนื่อยง่าย เนื่องจากหัวใจทำงานได้ไม่ดี และหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ทั้งช้าและเร็ว) ดังนั้น หลังการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากมีอาการ จะเกิดในช่วงสัปดาห์แรก แต่ก็อาจจะยืดยาวไปถึง 1 เดือนได้ ซึ่งจะมีระบบติดตามผลหลังฉีดวัคซีน


โดยปัจจุบันมีรายงานเข้ามา 3 ราย อายุระหว่าง 12-14 ปี และทำการรักษาอยู่ที่ รพ. ธรรมศาสตร์ รพ.ศิริราช และ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ทั้ง 3 รายนี้ ไม่มีอาการรุนแรง แต่ทั้งนี้ ยังมีอีกรายที่เสียชีวิต แต่ยังไม่มีรายละเอียดการเสียชีวิตที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน 


“แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะต่ำ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ โดย 3 รายที่กล่าวถึง ก็ค่อนข้างดี การทำงานหัวใจปกติ แต่ในระยะยาวเองก็บอกไม่ได้ว่า จะมีแผลเป็นหรือไม่ แต่การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร” รศ.นพ.สุพจน์กล่าว


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/I4EijoxRZE4



คุณอาจสนใจ

Related News