กทม.เปิดฉีดไฟเซอร์ ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง ผู้ว่าฯ ตั้งเป้าเด็กได้รับวัคซีนอย่างน้อย 7 แสนคน

สังคม

กทม.เปิดฉีดไฟเซอร์ ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง ผู้ว่าฯ ตั้งเป้าเด็กได้รับวัคซีนอย่างน้อย 7 แสนคน

โดย thichaphat_d

22 ก.ย. 2564

126 views

วานนี้ (21 ก.ย.) ที่อาคารทีปังกรรัศมีโชติ ชั้น 6 วชิรพยาบาล เขตดุสิต ผู้ปกครองพาบุตรหลาน เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเด็กนักเรียนในสังกัด กทม. และสังกัดอื่น ๆ แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 800 โดส และฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 700 โดส (ฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ส.ค.64)


ทั้งนี้ จากการลงทะเบียนมีเด็กอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยง แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนกว่า 5,000 คน ขณะนี้ดำเนินการฉีดแล้วประมาณ 2,000 คน เหลืออีก 3,000 คน หาก กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการฉีดให้ครบ


โดยนักเรียนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ตั้งแต่วันที่ 6-8 กันยายน ที่ผ่านมา นักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ มีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใด ๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนดของ รพ.วชิรพยาบาล แม้จะไม่ได้รับการรักษาที่ รพ.ดังกล่าว


ทั้งนี้ กทม.ได้ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้

1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น

กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม

กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม

กลุ่มอายุ 15 - 18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม


2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง

3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

4. โรคไตวายเรื้อรัง

5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

6. โรคเบาหวาน

7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวม ทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า


ผู้สื่อข่าวได้คุยกับนักเรียนหญิงชั้น ม.3 อายุ 15 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นโรคอ้วนเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 1 กล่าวว่า กว่าจะได้ฉีดวัคซีนรอนานมาก ๆ แต่ก็รอ เพราะอยากกลับไปเรียนให้โรงเรียนเปิดไว ๆ ยอมรับเบื่อการเรียนออนไลน์ ตนเองจะต้องสอบเข้าศึกษาต่อ ม.4 เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะเอาวิชาความรู้ที่ไหนไปสอบ แต่ถ้าต้องเปิดเรียนจริง ๆ อยากให้มีความพร้อมทุกอย่างก่อน ทั้งนี้ก่อนที่ตนจะลงเบียนฉีดวัคซีน ได้ศึกษาข้อมูลการเตียมตัวและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น


ผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่ง เผยว่า ลูกชาย 2 คน ม.2 กับ ม.5 เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ป่วยหอบหืดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งตนได้ศึกษาข้อมูลสอบถามแพทย์ถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ตนมั่นใจวัคซีนไฟเซอร์ เพราะมีข้อมูลบอกว่าวัคซีนชนิดนี้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคโควิดได้ดีในอเมริกา แต่ผู้ปกครองก็กังวลใจเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ข้อมูลที่ตนศึกษามาทราบว่าเด็ก 1 ล้านคนพบเพียง 8 คน คิดว่าลูกของตนคงไม่แจ็คพอต ที่จะได้รับผลข้างเคียงหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จึงตัดสินใจลงทะเบียนเลือกวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อฉีดให้ลูกชายทั้งสอง


ตนมีความเห็นว่าอยากให้เปิดเรียนช่วงเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษาหน้า เนื่องจากขณะนี้ผู้ปกครองมีความเห็นเกี่ยวกับวัคซีนที่ต่างกัน บางคนต้องการไฟเซอร์ บางคนต้องการซิโนฟาร์ม ซึ่งไม่รู้ว่าภูมิของเด็กดีหรือไม่อย่างไร พอโรงเรียนเปิดไม่ได้มีเฉพาะเด็ก แต่ยังมีผู้ปกครองที่ไปส่งบุตรหลานไปโรงเรียนและคุณครู เด็ก ๆ อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม อยากให้มั่นใจว่าปลอดภัยจริง ๆ มีความพร้อมแล้วค่อยเปิดเรียน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทรธิราช กล่าวว่า การจัดบริการฉีดวัคซีนให้เด็ก เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง หากเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักเกิน “ข้อมูลที่ผ่านมาวัคซีนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ต้องระมัดระวังและเก็บข้อมูล ในระยะสั้นผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง การฉีดวัคซีนน่าจะมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากกว่ารอติดเชื้อก่อน”


จากการติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กกลุ่มก่อนหน้านี้ พบว่า ยังไม่พบอาการรุนแรงใด ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บปวดบวมแดงร้อน บริเวณที่ฉีด แต่จะเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องหลังเข้ารับวัคซีนแล้วไปจนถึงประมาณ 1 เดือน เพื่อเก็บรวบรวมเข้าระบบของ รพ. และรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุข


ขณะที่ผู้ปกครองหลายคน ตัดสินใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค เพราะว่ามีโรคประจำตัว แม้จะกังวลกับวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่มั่นใจว่าปลอดภัยกับเด็ก เพราะมีผลการศึกษารองรับ แม้จะพบข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนในกลุ่มเด็กผู้ชาย โดยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้


ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนที่ รพ.วชิรพยาบาล เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กใน กทม. อายุ 12-18 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ในทุกสังกัดทั้ง สังกัด กทม. ภาครัฐ และเอกชน มีประมาณ 5,000 คน ที่ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน/ แต่ กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข มาประมาณ 2,000 โดส ดังนั้นที่เหลือตกค้างอีกกว่า 3,000 คน คาดว่าจะได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ มาเพิ่มภายหลังไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะเร่งดำเนินการฉีดให้ครบ


พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงแนวทางการเปิดภาคเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ขอประเมินจากการฉีดวัคซีนในเด็กก่อน โดยตั้งเป้าให้เด็กในพื้นที่ กทม.ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 700,000 คนขึ้นไป จากทั้งหมดประมาณ 1,000,000 คน จึงจะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง เกี่ยวกับการกำหนดเปิดภาคเรียนเมื่อใด เพื่อเสนอ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ


สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนของ กทม. ขณะนี้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ที่เรียกว่า 608 ฉีดวัคซีนไปได้ร้อยละ 95 ส่วนกลุ่มอายุ 18-51 ปี ฉีดไปแล้วเกือบร้อยละ 40 คาดว่าจะถึงร้อยละ 70 ช่วงกลางเดือนตุลาคม เป้าหมายจริง ๆ คืออยากให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์


ส่วนคำถามที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเปิดเมืองหรือไม่นั้น ยอมรับว่าหากจะเปิดเมืองตอนนี้เสี่ยงเกินไป อยากให้ประชาชนฉีดวัคซีน 2 เข็ม เกินร้อยละ 70 ก่อน และรอดูภูมิ 7-14 วัน แล้วค่อยมาคุยกันอีกที นอกจากนั้นต้องดูคนติดเชื้อด้วยว่ามากน้อยเพียงใด กทม.ไม่ได้ตัดสินใจเอง ต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. แม้จะอยากเปิดแต่ไม่อยากเสี่ยง ส่วนตัวอยากให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ให้ครบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อน


ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ยังระบุว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งเปิดเลยดีกว่า เอาง่าย ๆ คือ ถ้าฉีดวัคซีนเกิน 70 เปอร์เซ็นบวก ๆ เมื่อไร แล้วค่อยมาคุยกัน ขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะฉีดวัคซีน 2 เข็ม เกิน 70 เปอร์เซ็นเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการจัดสรรวัคซีน แต่ กทม.มีศักยภาพฉีดวัคซีนได้ 7-8 หมื่นคนต่อวัน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/WpCFkG_k4u0

คุณอาจสนใจ

Related News