นบข. เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรปลูกข้าว ปี 64/65

สังคม

นบข. เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรปลูกข้าว ปี 64/65

โดย narisa_n

23 ส.ค. 2564

3.7K views

ที่ประชุม นบข. เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนาน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณพร้อมจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอครม. พิจารณาต่อไป


ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อประชาชนเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยประกัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.689 ล้านครัวเรือน ราคาและปริมาณประกันรายได้ ความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้


1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน


2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน


3) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน


4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน


5) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน


นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรในระยะที่ 2 (ปี 2565 – 2568) โดยกระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ร่วมเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ และให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์และการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ จัดสรรโควตาร้อยละ 10 ของโควตาการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 1,700 ตันต่อปี


สำหรับจัดสรรให้เฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่ดำเนินโครงการ


ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่าคือ เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวคุณภาพที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 30,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 350 ล้านบาท (ข้าว GAP เพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท ข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท) รวมถึงขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP อย่างน้อย 700,000 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้บริโภคยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 000

คุณอาจสนใจ