กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายออนไลน์ แก่นักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

สังคม

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายออนไลน์ แก่นักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

โดย kodchaporn_j

4 ส.ค. 2564

16 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ออนไลน์ พระราชทานแก่นักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นครั้งที่ 4


วันนี้ เวลา 12.39 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ออนไลน์ พระราชทานแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นครั้งที่ 4


เรื่อง "อองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์" ซึ่งโรคมะเร็ง มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของยีน ที่เรียกว่า โปรโต-อองโคยีน ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ แต่เมื่อยีนกลุ่มนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กลายพันธุ์ จะทำให้กลายเป็นยีนที่ก่อมะเร็งได้ เรียกว่า อองโคยีน ส่งผลให้เซลล์นั้น มีการแบ่งตัวและเจริญอย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด


ในการนี้ ทรงบรรยายถึงการค้นพบอองโคยีนจากการศึกษายีนในไวรัส ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจพื้นฐานการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลในคน


พร้อมกันนี้ ทรงยกตัวอย่าง การเกิดอองโคยีนจากไวรัส โดยที่ยีนของไวรัสแทรกเข้าไปในยีนของเซลล์ และเข้าควบคุมการทำงานของยีนนั้น การกลายพันธุ์ของยีน การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม รวมทั้งการเพิ่มจำนวนของยีนที่พบในมะเร็งต่างชนิดกัน ที่เป็นกลไกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยีนปกติ ให้เป็นอองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง


จากนั้น ทรงขยายความสำคัญของกระบวนการเหล่านี้ ในระดับโมเลกุล โดยเน้นการควบคุมการเจริญของเซลล์ ซึ่งในเซลล์ปกติจะถูกควบคุมด้วยปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ชนิดต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ เป็นกลุ่มของโปรตีนที่ทำหน้าที่หลายระดับ และขั้นตอนในการควบคุมให้เซลล์มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป แล้วทรงอธิบายให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจถึงกระบวนการต้านการเกิดมะเร็งภายในเซลล์ หรือมีการหยุดแบ่งตัว และเซลล์นั้นเข้าสู่โปรแกรมการทำลายตัวเอง


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดอองโคยีน จะทำให้มีการสร้างโปรตีนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ หรือ โครงสร้างและหน้าที่แตกต่างจากโปรตีนของยีนปกติที่มีอยู่เดิม หรือเกิดความผิดปกติของการแสดงออกของยีน จนกระทั่งทำให้เกิดเซลล์มะเร็งในที่สุด


ทั้งนี้ การที่ทรงบรรยายรายวิชาพระราชทานในครั้งนี้ สามารถช่วยให้นักศึกษาแพทย์ มีความเข้าใจเรื่องอองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง ตลอดจนกลไก และความเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ และระดับยีน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ที่จะนำไปสู่การรักษาในแนวใหม่ ที่ตรงกับลักษณะของโรค การใช้ยาที่ตรงเป้าหมาย ไปจนถึงการพัฒนายา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

คุณอาจสนใจ