โคกขามโมเดล ปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจร ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกันโควิด

สังคม

โคกขามโมเดล ปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจร ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกันโควิด

โดย sujira_s

1 ส.ค. 2564

421 views

สมุทรสาคร - สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 นั้น ในส่วนของอำเภอเมืองสมุทรสาคร เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น.ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้นำทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร จัดโครงการหน่วยต้านโควิดสัญจร 'ทั่วถึง ...ทุกพื้นที่ .. ดูแลดี ... ดุจญาติมิตร' Test Treat Vaccine (TTV Team)


นำร่องให้แก่ประชาชนตำบลโคกขามขึ้นเป็นพื้นที่แรก โดยมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเปราะบางใน 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มาเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก


ซึ่งทุกคนที่มาเข้ารับบริการนั้น หลังจากที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติและบันทึกข้อมูลในระบบเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการหรือขั้นตอนที่เรียกว่า ตรวจ ค้นหา รักษา ป้องกัน คือ ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) จากนั้นนั่งรอผลประมาณ 15 นาที


ถ้าผลเป็นลบ ก็ให้ไปต่อที่การฉีดวัคซีน ซึ่งประชาชนสามารถเลือกตามความสมัครใจได้ โดยมีให้เลือก 2 แบบคือ แบบที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา + แอสตราเซเนกา ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันใน 14 สัปดาห์ หรือ แบบที่ 2 ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันใน 6 สัปดาห์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็นั่งรอดูอาการจนครบ 30 นาที เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมแล้วกลับบ้าน ขณะที่ผู้ที่มีผลเป็นบวก จะต้องเข้าสู่ห้องแยกกักตัวชั่วคราว เพื่อคัดกรองอาการของโรคทันที และทางเจ้าหน้าที่ฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้ติดเชื้อรายนั้นต้องให้ยาหรือไม่ ถ้าต้องให้ยาควรเป็นฟ้าทะลายโจร หรือยาพาวิฟิราเวีย และต้องใช้วิธีการกักตัวแบบใดตามความเหมาะสม คือ ใช้ระบบ HI , CI หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก


นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร หรือปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจร Test Treat Vaccine (TTV Team) นี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง


ดังนั้นจึงได้ร่วมกับทีมของทางอำเภอเมืองสมุทรสาคร จัดโครงการหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ขึ้นในทั้ง 18 ตำบล เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางอีกราวๆ 50,000 คน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจะจัดหน่วยเคลื่อนที่ฯ ในทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งตำบลโคกขามเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของอำเภอเมืองสมุทรสาคร เนื่องจากการพิจารณาของทางอำเภอพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีการกระจายตัวของเชื้อโรคค่อนข้างสูง อีกทั้งประกอบกับทีมเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ของตำบลโคกขามมีความพร้อม และประชาชนกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงเห็นสมควรให้ตำบลโคกขามเป็นพื้นที่นำร่อง ตำบลแรกของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในการจัดหน่วยเคลื่อนที่ดังกล่าว


ขณะที่นายชาญณรงค์ พงษ์สิงห์ อายุ 53 ปี ผู้เข้ารับบริการที่เลือกฉีดวัคซีนแบบที่ 2 ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา ใช้เวลาสร้างภูมิใน 6 สัปดาห์ บอกว่า ที่ตนเลือกฉีดแบบนี้เพราะคุณหมอบอกช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วกว่าแบบฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ส่วนเรื่องของความมั่นใจนั้น ส่วนตัวก็ไม่สามารถบอกได้ แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาแบบนี้น่าจะดีอยู่แล้ว


ส่วนทางด้านของนางกาหลง นุชปาน อายุ 48 ปี ผู้เข้ารับบริการที่เลือกฉีดวัคซีนแบบที่ 1 แอสตราเซเนกา + แอสตราเซเนกา ใช้เวลาสร้างภูมิใน 14 สัปดาห์ บอกว่า ที่เลือกฉีดแบบนี้เพราะตอนแรกเห็น ซิโนแวค มีปัญหาจึงรู้สึกกลัว ประกอบกับสามีฉีดแอสตราฯ แล้วเป็นอะไร จึงได้ฉีดตาม


ด้านนางกัญจน์อมร วิจิตร์ปฐมกุล ผอ.รพ.สต.บ้านขอม ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาครบอกว่า ในพื้นที่ๆ ตนเองรับผิดชอบนั้น พบผู้ติดเชื้อกระจายตัวอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่มีการนำผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางมาทำการฉีดวัคซีนนี้แล้ว ก็เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดหรือ ลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด 19 ลงได้ แต่ทั้งนี้ก็อยากจะฝากถึงทุกคนว่า หลังจากที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ยังคงต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไปคือ มาตรการป้องกันตนเอง สวมแมสก์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง เป็นต้น


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/3kXhcEqaUQU



คุณอาจสนใจ

Related News