กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามเณร จ.ศรีสะเกษ

สังคม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามเณร จ.ศรีสะเกษ

โดย kodchaporn_j

30 ก.ค. 2564

20 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามเณร ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ


วันนี้ เวลา 08.54 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามเณร ที่โรงเรียนโพธิ์ศรีวิทยา วัดบ้านโดด อําเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ


อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , กรมชลประทาน , กรมส่งเสริมสหกรณ์ และโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


โดยโรงเรียนโพธิ์ศรีวิทยา เป็นโดรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทรงรับไว้ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ในปี 2557 ปัจจุบันมีสามเณรนักเรียน 67 รูป


ในการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน อาทิ แผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่ได้ขุดลอกสระน้ำ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ พร้อมเครื่องทำน้ำเย็นให้กับโรงเรียน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนการปรับปรุงโรงครัว มีพระราชดำริให้ดูแลเรื่องความสะอาด ทั้งการประกอบอาหาร และการเก็บวางภาชนะ เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นระบบมีระเบียบ เพื่อให้วัดเป็นแบบอย่างด้านสุขอนามัยที่ดี


นอกจากนี้มูลนิธิฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ (สัจจเทพ) ได้สนับสนุนการก่อสร้างโรงครัว พร้อมที่ฉันภัตตาหาร สำหรับสามเณรนักเรียน โรงเรียนกันทรลักษ์ธรรมวิทย์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้


สำหรับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ ทางคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ช่วยจัดหลักสูตรการเรียนรู้ โดยจัดอบรมออนไลน์แก่ครู เพื่อให้มีความรู้ และทักษะพื้นฐานการสอน ใช้นวัตกรรมเชิงรุก ช่วยคิดวิเคราะห์ ส่วนการสอนวิชาภาษาบาลี ชั้นประโยค 1-2 ใช้สื่อการสอนพระราชทาน เรียนคู่กับหนังสือบาลี มีพระอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม ทำให้สามเณรเข้าใจ และรู้บาลีเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาบาลีขั้นสูงต่อไป


นอกจากนี้สามเณรนักเรียนยังร่วมกัน นำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว" ช่วยเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัตโนมัติ สาธิตการทำธุงใยแมงมุม ใช้ในงานบุญต่าง ๆ , ทำอาสนะ จากผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด และทำพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้า ช่วยเพิ่มมูลค่าสิ่งของที่มีอยู่ในชุมชน เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น


ในการนี้มีพระราชดำริ ให้เตรียมหาแนวทางส่งเสริมการเรียนการสอน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทดลองใช้สมาร์ททีวี และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น ให้สามเณรนักเรียน และเด็ก ๆ ในชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้ตรวจหาสาเหตุ ที่สามเณรนักเรียนมีภาวะโลหิตจาง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด


รวมทั้งดูแลเรื่องอาหาร จัดหาผักใบเขียว ตับ ตลอดจนอาหารเสริมเพิ่มเติม และให้จัดหาหนังสือเพิ่มเติม เพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 จำเป็นต้องคิดหาวิธีจัดเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้ต่อเนื่อง


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ให้ทุกคนร่วมมือกัน แบ่งปันความรู้ และพยายามทดลองคิดหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ


เวลา 12.55 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรมสามัญวัดบ้านโนนคูณวิทยา อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ โดยทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการตามพระราชดำริ ฯ และทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ


ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เพื่อให้สามเณรได้มีโอกาสทางการศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ควบคู่แผนกธรรม และแผนกบาลี ในปีการศึกษา 2564 มีสามเณรนักเรียน 75 รูป ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ได้แจกเอกสาร แบบฝึกหัด และติดตั้งโทรทัศน์พระราชทาน พร้อมเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม กระจายตามวัดที่สามเณรพำนัก เพื่อใช้จัดการเรียนการสอน ลดความเสี่ยงในช่วงของการแพร่ระบาด และเพื่อให้การศึกษาไม่หยุดชะงัก


ในส่วนของการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ใช้การสอนแบบเชิงรุก ผ่านกิจกรรมบัตรคำภาษา ช่วยฝึกให้สามเณรนักเรียน อ่านออกเสียงได้ชัดเจน เขียนสะกดคำได้ตรงตามมาตรา ด้านวิชาวิชาธรรมวิภาค นักธรรมชั้นตรี ฝึกให้เรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นตรี อธิบายความสุภาษิตทางธรรมให้กระจ่างแจ้ง


ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสอบนักธรรม เช่นเดียวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ส่งเสริมให้ฝึกการเทศน์แหล่ทำนองอีสาน การทำพานบายศรีจากวัสดุธรรมชาติ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ อาทิ ใบตองดอกไม้สด , การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากต้นราชพฤกษ์ แล้วตัดเย็บเป็นผ้าลำลองใช้ภายในวัด ส่วนกิจกรรมการงานอาชีพ สอนทำปุ๋ยหมักจากมูลม้า การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวแต๋น และสบู่ไรซ์เบอร์รี่


ทั้งนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสามเณร มาโดยตลอด สำหรับพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ไว้ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ จำนวน 9 โรงเรียน


ทุกโรงเรียนสามารถดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพได้อย่างสมดุล ทั้งในด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ รัก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ให้ทุกคนพยายามศึกษาหาความรู้ และสร้างเสริมทักษะเพิ่มเติมอยู่เสมอทั้งทางโลกและทางธรรม

คุณอาจสนใจ