สรุปแนวทางตรวจโควิด กรมการแพทย์ ย้ำไม่ต้องรอผล RT-PCR หากมีอาการเข้ารักษาตัวได้เลย

สังคม

สรุปแนวทางตรวจโควิด กรมการแพทย์ ย้ำไม่ต้องรอผล RT-PCR หากมีอาการเข้ารักษาตัวได้เลย

โดย thichaphat_d

27 ก.ค. 2564

17 views

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. กล่าวถึง ปัญหาพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ antigen rapid Test Kit (แอนติเจน แรพิด เทสคิท) แล้วยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก.ศบค. หารือกันว่า เมื่อตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก เจ้าหน้าที่จะให้ ผู้ที่มีผลไปบวกไปตรวจเชื้อผ่านระบบ RT-PCR ก่อน เพื่อเข้าสู่ระบบ community isolation


ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอธิบายข้อจำกัดความแม่นยำของ ATK เนื่องจากผลบวกอาจเป็นผลบวกลวงได้ จึงขอให้ไปตรวจมาตรฐานคือ RT-PCR ก่อนเสมอ แต่อย่างไรก็ตามพบว่า การตรวจ RT-PCR เป็นข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถหาที่ตรวจได้ หรือตรวจแล้ว RT-PCR เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาต้องใช้เวลา 1-2 วัน


ที่ประชุมสปก.ศบค.จึงหารือ โดยในเบื้องต้นขอให้ community isolation รับผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกเข้าไปก่อน เนื่องจากประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถแยกกัก Home isolation ได้ด้วยความไม่พร้อมหลายอย่าง แต่จะต้องแยกออกจากผู้ป่วยที่อยู่ภายใน community isolation สนใจยกเลิก RT-PCR ไปเลยได้หรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขเองยังมีความเป็นห่วง เนื่องจาก ATK มีความแม่นยำที่จำกัด จึงขอให้ติดตามหารือผลการประชุม


นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีผู้ติดเชื้อหากตรวจแล้วผลเป็นบวกจากชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด ว่า ในวันนี้จะแนะนำให้แยกกักรักษาที่บ้าน ขั้นตอนคือโทรไปที่ สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อขอลงทะเบียน แต่ก็มีข้อจำกัดคู่สาย อาจไม่พอ เนื่องจากประชาชนตรวจเยอะ


ทางสปสช. แนะนำ ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ สปสช.แล้วแสกน QR Code กรอกข้อมูลลงทะเบียนไว้ ได้เช่นกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ สำหรับการขึ้นทะเบียนในระบบแยกกักตัวรักษาที่บ้าน หากอาการไม่มาก ซึ่งกรณีนี้ทาง สปสช. จะเป็นเจ้าภาพในการดูแลนำผู้ป่วยจับคู่กับ คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดูแล แบบแยกกักตัวที่บ้าน


หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หลักการต่อไป คือ จะประเมินอาการ มีการโทรติดต่อ หลังจากนั้นก็จะมีการส่งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจนในกระแสเลือด เพื่อติดตามอาการตัวเองที่บ้าน รวมถึงจะมีแพทย์พยาบาลโทรไปสอบถามอาการวันละ 2 รอบเพื่อประเมินอาการของผู้ป่วย รวมถึงจะมีการจัดส่งอาหาร 3 มื้อไปที่บ้าน เพราะการแยกกักตัวที่บ้านตามหลักการคือไม่อยากให้ออกจากห้องพัก


ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีการพิจารณาจากคนไข้ที่เข้าเกณฑ์ คือหากเริ่มมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอก หรือมีปัจจัยเสี่ยง มีโรคร่วม เช่น มีโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองเดิม โรคอ้วน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ถึงแม้จะไม่มีอาการก็สามารถให้ยาได้เลย หลักการตอนนี้ คือรีบให้ยาทันที โดยยาฟาวิพิราเวียร์ จะได้ผลคือจะต้องรีบให้ภายใน 3-4 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ


ส่วนกรณีต้องตรวจผลโควิดซ้ำ หลังจากตรวจด้วยชุดคัดกรองโควิด ด้วยตัวเองแล้ว นายแพทย์ สมศักดิ์ ระบุว่า ตามหลักวิทยาศาสตร์ ถ้ามีอัตราของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่ผลบวกจะเป็นบวกจริง ส่วนบวกปลอมจะน้อยมาก / แต่ขณะนี้ก็มีบางส่วนที่มีผลบวกปลอมประมาณร้อยละ3 – ร้อยละ 5 / ส่วนร้อยละ 95 ขึ้นไป เป็นบวกจริง ก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ ถือว่าการแยกกักตัวรักษาที่บ้านทำได้เลย / แต่ถ้าผลเป็นลบ แนะนำว่า หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในชุมชนที่เสี่ยง อีก 2-3 วันให้ตรวจซ้ำ


ทั้งนี้หากตรวจแล้วผลเป็นบวก แต่มีอาการเป็นกลุ่มสีเหลืองหรือ สีแดง นายแพทย์ สมศักดิ์ ระบุว่า เดิมมีหลักการว่าจะต้องทำ RT-PCR และรอผล แต่จากการประชุม กับกรุงเทพฯ ล่าสุด จะมีคนไข้ เข้าข่ายกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลไม่ได้ นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า เข้าใจเองว่าไม่ได้ทำการตรวจซ้ำ วิธี RT-PCR แต่เป็นเพราะเตียงไม่มี


"ตอนนี้เตียงสีแดงไม่มีเลย ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ อย่าง โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ เตียงสีแดงเต็มตลอด ส่วนห้องฉุกเฉินจะมีคนไข้ที่เป็นสีแดงรออยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังเข้ารักษาไม่ได้


สภาพโรงพยาบาลส่วนใหญ่ตอนนี้ ไอซียู เป็น ไอซียู รวม จะไม่สามารถนำผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อ มารวมกับผู้ป่วยติดเชื้อได้ เพราะจะทำให้คนที่ไม่ติดโควิด เป็นโควิดได้ ก็เลยหาทางว่า หากจะเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องไอซียูที่นอนเรียงกัน จะต้องทำ RT-PCR เราจะไม่ให้รอผล ถ้าหากมีเตียง ซึ่งได้มีการคุยกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขอให้ผู้ป่วยแอดมิทเข้าไปก่อน และทำRT-PCRไปพร้อมๆกัน เช่น ถ้าเป็นไปได้ให้แยกผู้ป่วยเตียงนี้ ให้ห่างจากผู้ป่วยเตียงอื่นๆ เพื่อป้องกัน หากผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้ติดเชื้อ และผลRT-PCR ออกมาเป็นลบ จะได้แยกออกมาจากวออร์ดโควิด"


โดยหลักการต่อไปนี้ จะไม่ให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นปัญหาต่อการแอดมิท ถ้ามีเตียง ซึ่งตอนนี้ผลตรวจ RT-PCR อย่างเร็วคือ 2-3 ชั่วโมงได้มีการเร่งในส่วนนี้ไปแล้ว ในกรณีนี้ รวมถึงคนไข้ที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ แล้วต้องไป ศูนย์พักคอยรักษาผู้ติดเชื้อชุมชน แต่ขอให้แยกโซนและทำ RT-PCR ไปพร้อมๆกัน


สำหรับกรณีที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ หลักการ คือไม่สามารถที่จะแยกตัวเองออกจากคนในบ้านได้ เช่น แยกห้องนอนไม่ได้ทั้งบ้านอยู่รวมกัน แต่หากสามารถแยกห้องในการกักตัวรักษาที่บ้านได้ ห้องน้ำสามารถใช้รวมได้ แต่ขอให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และขอให้ทำความสะอาด พยายามแยกทุกอย่าง ห้ามกินข้าวด้วยกัน แยกของใช้ ขยะแยก


ทั้งนี้ ศูนย์พักคอยในชุมชน ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม แต่สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ความสามารถของศูนย์พักคอย จะไม่เท่ากับโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากเราเน้นว่าอยากให้เป็นลักษณะชุมชนดูแลกันเองแล้วก็มีทางผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการหลัก ที่จะดูแลศูนย์พักคอยเหล่านี้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาจะมีโรงพยาบาล สำรองเอาไว้


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/4kB2gRfuMKc

คุณอาจสนใจ

Related News