กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงร่วมสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติ โอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา

สังคม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงร่วมสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติ โอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา

โดย kodchaporn_j

20 ก.ค. 2564

49 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมงานสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา 2 เมษายน 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)


วันนี้ เวลา 08.28 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงร่วมงานสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติ พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ด็อกเตอร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา 2 เมษายน 2564


และการแนะนำโครงการหอจดหมายเหตุ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในพระราชดำริฯ ครั้งที่ 4 เรื่อง “54 ปี การก่อตั้ง ‘อาเซียน’ และปฏิกิริยาจากโลกมหาอำนาจ และเพื่อนบ้าน: มุมมองจากเอกสารหอจดหมายเหตุต่างประเทศ และนักวิชาการอาวุโส” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)


โอกาสนี้ ทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความร่วมมือในอาเซียน” โดยทรงเล่าประสบการณ์ ในการทรงงานกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ทั้งในประเทศไทย และขยายไปยังหลายประเทศในอาเซียน และนอกอาเซียน เช่น บังกลาเทศ มองโกเลีย เนปาล ภูฏาน และติมอร์-เลสเต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน และชุมชนในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น


เช่น การส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกษตรยั่งยืน , การส่งเสริมโภชนาการ สุขภาพอนามัยให้กับเด็ก , การสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน , การพัฒนาด้านอาชีพและสหกรณ์ , การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งในปี 2563-2564 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการติดตามงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านระบบออนไลน์


ทั้งนี้ ยังมีความร่วมมืออีกหลายด้านกับประเทศในอาเซียน เช่น การสร้างหอพักโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว , การให้ทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโท ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แก่นักศึกษาประเทศเมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ , การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้แก่แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางด้านสาธารณสุข จำนวน 23 หลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยมหิดล


นอกจากนี้ อาเซียนยังมีโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา เช่น โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระยะสั้น ระหว่างโรงเรียนนอร์ทไลท์ของสิงคโปร์ กับโรงเรียนของไทย , โครงการความร่วมมือทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย , โครงการศูนย์การศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น การจัดทำระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ กับสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล ประเทศกัมพูชา และความร่วมมือระหว่างโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ กับสิงคโปร์โพลีเทคนิค เป็นต้น


จากนั้น ทรงร่วมการสัมมนาเรื่อง “54 ปี การก่อตั้ง ‘อาเซียน’ และ ปฏิกิริยาจากโลกมหาอำนาจ และเพื่อนบ้าน : มุมมองจากเอกสารหอจดหมายเหตุต่างประเทศและ นักวิชาการอาวุโส” โดยมีวิทยากร อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ


ต่อมา เวลา 13.14 น. ทรงร่วมฟังการวิจัยหัวข้ออาเซียนในประเทศไทย ตลอดจนบทบาทของไทยในอาเซียนในอดีต และปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง การก่อตั้งอาเซียน ของนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษา


การสัมมนาครั้งนี้ โครงการหอจดหมายเหตุ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา 2 เมษายน 2564 และครบ 41 ปีแห่งการทรงสอน ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก และเพื่อเผยแพร่ต้นแบบความเป็น “ทหารวิชาการ” ที่มีลักษณะ ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ บนฐานความรู้มานานมากกว่า 4 ทศวรรษ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมไทย


รวมทั้งเพื่อแนะนำโครงการหอจดหมายเหตุกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในพระราชดำริฯ ซึ่งเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล และทบทวนองค์ความรู้ของประวัติศาสตร์ 54 ปี การก่อตั้ง ‘อาเซียน’ แก่นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา เพื่อให้นักวิชาการภายนอกและนิสิต นักศึกษา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับอาจารย์ ข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย และร่วมกันทำงานวิจัยในเชิงลึกต่อไป ตลอดจนการแนะนำเอกสารที่ได้สำเนามา ส่วนใหญ่เคยเป็นเอกสารลับ ที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อครบกำหนดตามกฎระเบียบหอจดหมายเหตุของแต่ละประเทศ (ตั้งแต่ 30 ปีถึง 100 ปี)


ในอดีต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เคยจัดสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับสงครามโลกและสงครามเย็น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ อาทิ สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งตลอดการสัมมนาในครั้งนี้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของศบค. อย่างเคร่งครัด

คุณอาจสนใจ