อากงวัย 77 เสี่ยงโควิด ไร้บัตร ปชช. จนท.อ้างตรวจให้ไม่ได้ ต้องรักษาที่บ้านตามยถากรรม สุดท้ายสิ้นใจ

สังคม

อากงวัย 77 เสี่ยงโควิด ไร้บัตร ปชช. จนท.อ้างตรวจให้ไม่ได้ ต้องรักษาที่บ้านตามยถากรรม สุดท้ายสิ้นใจ

โดย thichaphat_d

14 ก.ค. 2564

311 views

มีเรื่องราวของอากง วัย 77 ปี ทราบชื่อนายอาง้อ (สงวนนามสกุล) เชื้อชาติจีน ซึ่งมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เด็กและมีครอบครัวตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ไทยจนถึงปัจจุบัน โดยอากง มีอาการคล้ายติดเชื้อโควิด เสียชีวิตในบ้านพัก ภายในซอยกำกันแม้น 13 แยก 9 เขตบางบอน กทม.


ขณะที่พบว่าคนในบ้าน 4 คน ได้แก่ นางสมศรี อาม่า วัย 72 ปี ภรรยา (เชื้อชาติไทย), ลูกชายวัย 44 ปี ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา แล้ว 1 เข็ม , หลานสาววัย 20 ปี ,หลานชานวัย 17 ปี ไปตรวจหาเชื้อพบว่าผลเป็นบวกทั้งหมด เข้ารับการรักษาแล้วที่ฮอสพิเทล ย่านพระราม 2 ยกเว้นอาม่า ที่รอเตียงยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ไม่รู้รับเชื้อมาจากที่ไหน


ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่คุยกับญาติ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเห็นอาการคนในบ้าน ไอ เหนื่อยหอบเหมือนติดโควิด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ตนจึงได้โทรไปที่สาธารณสุข เขตบางบอน เจ้าหน้าที่นัดคิวให้ไปตรวจวันที่ 7 ก.ค. ที่จุดตรวจเชิงรุกตลาดบางแคภิรมย์ โดยตรวจทั้งหมด 5 คน รวมถึงอากง อาการเริ่มแย่ก็ได้ไปตรวจเชิงรุกหาเชื้อเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ตรวจให้คนต่างด้าวหรือคนข้ามชาติ


เนื่องจากอากง มีสัญชาติและเชื้อชาติจีน ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่มีบัตรสุขภาพเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอะไรเลย ทำให้ไม่มีสถานที่รักษา เพราะถ้าไม่มีผลตรวจไปยืนยันก็ไม่มีที่ไหนรับรักษา อากงได้แต่นั่งหายใจรวยริน ญาติขอร้องให้ช่วยตรวจแต่เจ้าหน้าที่ยันยันคำเดิมตรวจให้ไม่ได้เพราะเป็นต่างด้าว ตรวจให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น ซึ่งตรวจให้อาม่า น้องเขย และหลาน ๆ เพราะเป็นคนไทย ต่อมาวันที่ 10 ก.ค.ทุกคนทราบผลติดโควิดยกบ้าน


ส่วนอากง ซึ่งไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อและไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ทางญาติพากลับมานอนรักษาตามยถากรรมอยู่ที่บ้าน มั่นใจอากงติดเชื้อแน่นอน ระหว่างอยู่ที่บ้านนั้นอากง อาการเริ่มทรุด ขณะที่อาม่า รักอากงมาก เป็นห่วงไม่ยอมอยู่ห่าง ไม่อยากทิ้งอากงเพราะสัญญากันไว้จะอยู่ไปด้วยกันจนแก่จนเฒ่า


อาม่าได้เตียงแล้ว บอกว่า ถ้าอากง ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อและยังไม่ได้เข้ารับการรักษา อาม่าก็จะไม่ไป บอกลูกและหลาน ๆ ที่ติดเชื้อไปรักษาตัวก่อน อาม่าจะขออยู่กับอากง จะได้สบายใจว่าอากง ได้รักษาแล้ว ตอนนี้อาม่าไอหนักมาก เหนื่อย กินอะไรไม่ค่อยได้ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่นตคาดว่าเชื้อน่าจะลงปอดแล้ว


ต่อมาวันที่ 12 ก.ค. อาการของอากงเริ่มทรุดหนัก แต่ยังพูดคุยกับลูกหลานได้ เดินเข้าห้องน้ำได้แต่ต้องช่วยพยุงตัว ลูกชายและลูกสะใภ้มาช่วยกันดูแลอากงกับอาม่า เป็นการดูแลกันเองตามมีตามเกิด ทั้งที่รู้ว่าว่าเสี่ยงติดเชื้อแต่ก็ต้องทำ เพราะพึ่งพาหน่วยงานไหนไม่ได้เลย ไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเพราะกล้วติดเชื้อ โดยช่วยกันป้อนข้าวป้อนน้ำ ต้มสมุนไพรให้สูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการ


ญาติระบุว่า คืนวันที่ 12 ก.ค. อากง หายใจแรงผิดปกติ เหมือนเป็นสัญญาณอะไรบางอย่าง คาดว่าเลือดอาจขาดออกซิเจน เพราะอากงไม่ได้ใส่สายออกซิเจน เพราะที่บ้านไม่มีเครื่องผลิตและไม่มีถังออกซิเจน และไม่มีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว แต่อากง ยังพูดคุยรู้เรื่องทุกออย่าง จะออกไปหาซื้อยืมถังออกซิเจน หรือให้นำถังออกซิเจนมาให้ก็ไม่ได้ เพราะติดเคอร์ฟิว ออกจากบ้านไม่ได้ ปล่อยให้อากงนอนหายใจแรงทั้งคืนจนถึงตี 4 ให้หมดเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งกว่าจะถึง ตี 4 อากง อาการไม่ไหวแล้ว


กระทั่งเช้าวันที่ 13 ก.ค. ลูกชายออกไปซื้อออกซิเจนแบบกระป๋องมาใช้ชั่วคราว เพราะหาถังออกซิเจนไม่ได้ ไม่รู้ต้องไปติดต่อขอยืมกับใคร ตระเวนหาซื้อตามตลาดหมดเกลี้ยง นำออกซิเจนแบบกระป๋องมาประคองลมหายใจอากง ใช้ได้แป๊บเดียวก็หมด ลูก ๆ อยู่ห่าง ๆ ตะโกนถามอากงว่า “เป็นยังบ้าง ๆ กินยาหน่อยมั้ย สู้ ๆ นะ ใคร ๆ เขาก็หายกันได้ ไม่ถอดใจนะยังไงต้องหาย” อากง ตอบกลับโดยการพยักหน้า


จากนั้นญาติ เตรียมรถจะพาอากง ไปโรงพยายบาล เพราะเห็นว่าอากง อาการแย่แล้ว ญาติ ๆ คิดว่าจะไปพูดกับโรงพยาบาลยังไงดี ถ้าบอกว่าเสี่ยงติดเชื้อเพราะคนในบ้านติดโควิด ก็กลัวโรงพยาบาลไม่รับรักษา ระหว่างนั้นเวลาประมาณ 11 โมง ลูกชายถอยรถมาจอดหน้าบ้าน กำลังจะอุ้มขึ้นรถ ยังไม่ทันจะได้อุ้ม อากงน้ำตาไหล ตาลอยเห็นแต่ตาขาว


ลูก ๆ และลูกสะใภ้ รู้แก่ใจว่าอากง น่าจะไม่รอดแล้ว แต่ยังหายใจอยู่ หายใจแรงเฮือกสุดท้าย ขณะนั้นสิ่งที่ลูก ๆ ทำได้คือพูดร่ำลา ไม่ถึง 5 นาที ลมหายใจของอากง ค่อย ๆ แผ่วเบาก่อนจะเสียชีวิตลงคาบ้านพัก ขณะที่อาม่า เศร้าใจอย่างมาก ได้แต่นั่งซึม


ญาติของอากง ระบุว่า “ตนเข้าใจว่าถ้าไปตรวจโรงพยาบาลไหน ที่นั้นต้องรับรักษา เราเข้าใจว่าทุกวันนี้คนไทยแทบไม่มีที่รักษา แต่น่าจะมีโรงพยาบาล หลาย ๆ แห่งก็ได้ ที่มีเตียงว่าง ผู้ป่วยไม่ว่าเชื้อชาติอะไรก็สามารถไปรักษาได้ จะเสียเงินเราก็ยอม ตนโทรไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ คำถามแรก ๆ จะถามว่ามีประกันหรือเปล่า เราบอกไม่มีแต่พร้อมจะเสียเงิน ทางโรงพยาบาลตอบกลับทันทีว่าเตียงเต็มอาจเป็นเพราะเราไม่เข้าสู่เงื่อนไขของโรงพยาบาล จึงทำให้ไม่มีเตียงรองรับ เชื่อว่าโรงพยาบาลคงล็อคเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีประกันหรือไม่ มันน่าจะมีระบบจัดการที่ดีกว่านี้ ”


นางเนตรนภา (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี ลูกสะใภ้ของอากง (ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ) เป็นคนนอนเฝ้าอากงกับอาม่า เผยว่า ช่วงแรก ๆ อากงยังไม่มีอาการหนัก ตกดึกวันที่ 12 ก.ค. อากงอาการทรุด เหนื่อยเริ่มไม่ไหว หายใจแรง จะออกไปหาถังออกซิเจนที่ไหนก็ไม่ได้เพราะติดเคอร์ฟิว จึงโทรบอกพี่เขยพี่สะใภ้ ซึ่งอยู่บ้านอีกหลัง ให้ไปหาซื้อถังออกซิเจนตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะกลางดึกทุกคนออกจากบ้านไม่ได้ ได้แต่โทรถามไถ่อาการกันเป็นระยะจนถึงตี 4 หมดเวลาเคอร์ฟิว พี่เขยกับพี่สะใภ้จึงขี่รถมาดูอาการของอากง ตนเองพยายามตบหลังอากงให้รู้สึกตัว อากงพูดเสียงเบา ๆ ว่า “ไม่เป็นไร”


ลูกสะใภ้ บอกว่า ตอนเช้า ตนเปิดเพลงจีนให้อากงฟังเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ต้มสมุนไพรให้สูดดมทั้งบ้านเพื่อให้กลิ่นช่วยบรรเทาอาการ จากนั้นเวลาประมาณ 08.00 น. อาการของงอากง หนักขึ้น หายใจแรงขึ้นกว่าเดิม ตนพยายามบีบมือไว้ให้รู้สึกตัว ตัวเริ่มซีดอาการเริ่มไม่ดี พูดเสียงเบา ๆว่า “ทรมานจังเลย เกิดมาไม่เคยพบเคยเจอ มันเป็นอะไร”


ตนเห็นสภาพอากง รู้สึกสงสารแต่ใจสู้ ทั้งที่นอนหายใจแรง จากนั้นอากง ส่งเสียงเรียกหาอาม่า เหมือนพยายามจะถามว่าอาม่าอยู่ไหน และถามหากวาดสายตาดูลูกหลานทุกคน ตนบอกกับอากง ว่า “ทุกคนอยู่นี่ไม่เป็นอะไรนะอากง” ประมาณ 9 โมง พี่สะใภ้นำออกซิเจนแบบกระเป๋ามาประคองอาการ อากง จับมือลูกชาย 2 คนที่นั่งอยู่ขอบเตียงไว้แน่น ขณะนั้นยังมีลมหายใจอยู่ ลูกชายคนโต พูดว่า “ป๊าอย่าเพิ่งไป ๆ”


ลูกๆ ตัดสินใจพาไปโรงพยาบาล ระหว่างนำรถมาจอด อาการอากงไม่ไหวแล้ว จึงนั่งสวดมนต์ นำรองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้าชุดใหม่มาเปลี่ยนให้อากงตามทำเนียบจีน ลูก ๆ สั่งเสียบอก “อากงไปไหว้พระบนสวรรค์นะ” บอกให้แกไปสบาย จากนั้นอากง หายใจเฮือกสุดท้าย ก่อนสิ้นใจตาย เห็นสภาพมันบีบหัวใจมาก ไม่คิดว่าจะไปไวขนาดนี้ และสะเทือนใจอาม่าอย่างมากเพราะทั้งคู่รักกันมาก


ลูกสะใภ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่ทุกคนในบ้านไปตรวจเชิงรุกหาเชื้อที่ตลาดบางแคภิรมย์ นั้น ตนได้พาอาม่า ไปขอตรวจที่ รพ.ตามสิทธิ์การรักษา แต่ทาง รพ.ไม่ยอมตรวจให้ ตนจึงบอกให้ช่วยวัดชีพจร เพราะอาม่าเป็นความดันโลหิตสูง พยาบาลบอกให้ไปหาโรงพยาบาลอื่นนะ ตนจึงตอบกลับไปว่า “โรงพยาบาลตามสิทธิ์ยังไม่รักษา แล้วจะให้เราไปหาโรงพยาบาลไหน”


พยาบาลคนดังกล่าวบอก “นโยบายไม่เหมือนกัน นี่เป็นนโยบายของผู้ใหญ่” จนอาม่า บอกว่า “พอเถอะ เอาอาม่ากลับบ้าน อาม่าอยากนอนไม่ไหวแล้ว” ตนจึงพาอาม่ากลับบ้าน ตนไม่เข้าใจว่าทำไมโรงพยาบาลไม่รับตรวจหาเชื้อให้ “ทำไมต้องแบ่งแยก ถ้าคนเขาไม่ป่วยจริง เขาไม่ไปหรอก”


อยากให้บุคลากรทุกโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม เพราะจะต้องเจอสถานการณ์แบบนี้อีก “บางคนเขาต้องการรักษาพ่อแม่ เขาไม่บอกหรอกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้พ่อแม่ได้รับสิทธิ์การรักษา” อย่างเคสของอากง ถ้ามีออกซิเจน ก็อาจมีโอกาสรอด แต่เราไม่สามาถเคลื่อนย้ายอากง ได้เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และเราไม่มีจิตสำนึกพาไปโรงพยาบาล แล้วบอกว่าแค่มึนหัว เราก็ทำไม่ได้เพราะรู้ว่าบ้านเราเสี่ยง วันนี้เราสูญเสียแล้ว อยากสะท้อนถึงภาครัฐให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบุคลากรให้ดี ผู้ป่วยวิกฤตเพียงเสี่ยววินาทีคุณอาจช่วยเขาได้


ส่วนศพของอากง เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) เสียชีวิตตั้งแต่ 11 โมง ศพอยู่บนเตียงในบ้านทั้งวัน ญาติเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเท อาม่าและลูก ๆ นั่งเฝ้าศพอยู่ในบ้าน ลูก ๆ และลูกสะใภ้ช่วยกันทำอาหารใส่ถาดพร้อมน้ำดื่ม นม วางไว้หน้าบ้าน จุดธูปบอกอากงมาทานข้าว กว่าเจ้าหน้าที่จะมาชันสูตรพลิกศพก็ค่ำมืดแล้ว จากนั้น อปพร.เขตบางบอน ช่วยเก็บร่างใส่โลง ไปฝากเก็บไว้ในเตาเผาศพวัดกำแพง (เขตบางขุนเทียน) เพื่อเผาวันนี้ (14 ก.ค.)



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/IOhIMO5L57Y

คุณอาจสนใจ

Related News