จ่อล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หากทีมแพทย์เสนอ ศบค.หวั่นยอดป่วยโควิดอาจทะลุหมื่นคน/วัน

สังคม

จ่อล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หากทีมแพทย์เสนอ ศบค.หวั่นยอดป่วยโควิดอาจทะลุหมื่นคน/วัน

โดย thichaphat_d

8 ก.ค. 2564

2.5K views

หลังจากที่ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค.ได้ออกมาระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 แล้ว รวมถึงคาดการณ์อีก 1-2 เดือนข้างหน้า โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์เดลตาเกือบทั้งหมด พร้อมทั้งแนะนำว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ลดต้องล็อกดาวน์


วานนี้ (7 ก.ค.) พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอล็อกดาวน์ประเทศว่า ตนเองได้ยินเช่นนั้นเหมือนกัน ขณะนี้รอข้อเสนอที่เป็นทางการ และจะรับพิจารณาพร้อมกับย้ำว่า ศบค. จะฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรก เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ ส่วนจะออกมาตราการแบบไหน จะต้องหารือกันอีกครั้ง


โดยพลเอกณัฐพลย้ำว่า ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ นิยามของคำว่าล็อกดาวน์ของ ศบค. คือ เหตุการณ์เมื่อเมษายน 2563 และ จะต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาประชาชนรองรับ ซึ่งข้อมูลที่กระทรวงการคลังแจ้งมาว่า เมษายน 2563 ใช้งบประมาณเยียวยากว่าเดือน 3 แสนล้านบาท และยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง


ส่วนการประเมินการออกมาตรการจะยังเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม หรือไม่ พลเอกณัฐพล ระบุว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะมีการประเมินเร็วขึ้นตาม แต่หากมีผู้ติดเชื้อทรงตัวก็จะยังคงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคมเช่นเดิม เพื่อการประเมินที่ครบถ้วน แต่ย้ำว่า ไม่ใช่การนั่งรอดูตัวเลขเฉย ๆ แต่จะควบคู่ไปกับมาตราการอื่นๆ เช่น การควบคุมการเคลื่อนย้าย/การรักษาพยาบาล /จัดหาเตียงเพิ่มเติม เป็นต้น 


การล็อกดาวน์จะเป็นเพียงพื้นที่การแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา หรือเหมือนกันทั้งประเทศนั้น เลขาสมช.ระบุว่าอาจจะไม่เหมือนกัน และเน้นแต่ละพื้นที่ต่างกัน อย่างกทม. และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นก็ต้องมีมาตราการที่สูงด้วยเช่นกัน เพราะหากเป็นการล็อคดาวน์ หรือ เซมิล็อกดาวน์ ก็ต้องมีการประเมินและลดหลั่นไปตามลำดับ


เมื่อถามถึงมาตรการขอความร่วมมือเวิร์กฟอร์มโฮม แต่ยังไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ศบค.จะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ข้อกำหนดทุกฉบับที่ออกมาจะเน้นว่าให้ทำงานที่บ้านสูงสุด แต่ส่วนราชการบางส่วนมีภารกิจบริการประชาชน บางส่วนมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บางส่วนมีหน้าที่ด้านความมั่นคง ที่จำเป็นต้องมาทำงาน โดยรัฐบาลและ ศบค.ย้ำเสมอว่าเมื่อมาทำงานต้องระวัง และที่ผ่านมาหน่วยงานที่ขอความร่วมมือแต่ยังปฏิบัติไม่เต็มที่คือ ภาคเอกชน


ด้านแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผยว่า แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเป็นห่วงเรื่องของการแพร่ระบาด มีการประเมินคร่าวๆ ว่า เริ่มพบสายพันธุ์เดลตาประมาณช่วงเดือน มิ.ย.


ส่วนผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้แพร่กระจายเร็ว คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์ คร่าวๆ ตอนนี้จะเห็นตัวเลข 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 เป็น 4,000 ถ้าสมมุติคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 รายต่อวัน ต้องเรียนทุกคนต้องเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมทั้งเน้นย้ำการฉีดวัคซีน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/exRe8whmXew

คุณอาจสนใจ

Related News