'หมอยง' ขอบคุณปชช.แห่สมัครทดสอบฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อล้นหลาม ล่าสุดปิดรับแล้ว เผยคัดเหลือแค่ 90 คน

สังคม

'หมอยง' ขอบคุณปชช.แห่สมัครทดสอบฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อล้นหลาม ล่าสุดปิดรับแล้ว เผยคัดเหลือแค่ 90 คน

โดย panwilai_c

19 มิ.ย. 2564

62 views

การเตรียมโครงการวิจัยการใช้วัคซีนต่างชนิดแทนกันของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ปิดรับอาสาสมัครไปแล้วหลังมีผู้สนใจกว่า 700 คน หลังเปิดรับสมัครเพียง 6 ชั่วโมง ซึ่งโครงการจะคัดจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้เหลือ 90 คน ก่อนจะเริ่มการทดสอบในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อดูประสิทธิภาพของการใช้วัคซีนต่างชนิดฉีดสลับกัน หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็สมารถนำแนวทางนี้มาใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูงได้


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยงค์ ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ขอบคุณประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน และการใช้แทนกันของวัคซีนซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา โดยมีประชาชนสนใจมากกว่า 700 คนภายในเวลา 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องคัดเลือกอาสาสมัครเพียง 90 คนเท่านั้น ทำให้ต้องปิดรับการสมัครก่อนกำหนดในวันที่ 24 มิถุนายน


ศาสตราจารย์นายแพทย์ยงค์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีผลการศึกษาชุดแล้วว่าการให้วัคซีนต่างชนิดกัน เช่น การฉีด AstraZeneca เข็มแรกแล้วกระตุ้นด้วย Pfizer ได้ผลภูมิต้านทานที่สูงเท่ากับการให้ Pfizer 2 เข็ม ขณะเดียวกันการให้ 2 ชนิด ที่ต่างกัน จะมีระดับภูมิต้านทานในหน่วยความจำระดับเซลที่ดีกว่า


ข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์ที่ทำวิจัยอยู่พบว่าการให้วัคซีน Sinovac เข็มแรก แล้วกระตุ้นด้วย AstraZeneca ได้ภูมิต้านทานที่สูงกว่าการให้ Sinovac 2 เข็ม และเกือบเทียบเท่าPfizer ดังนั้นการให้วัคซีน 2 เข็ม ต่างชนิดกัน จะเป็นประโยชน์ ในกรณีที่มีผู้แพ้วัคซีนในเข็มแรก หรือกรณีวัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุดไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่ 2 และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้


ดังนั้นการสลับเปลี่ยนวัคซีนจึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำไปใช้จริง โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว


สำหรับการศึกษาจะแบ่งอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-59 ปี เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับ Sinovac เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย AstraZeneca เป็นเข็มที่สอง และ กลุ่มที่ได้รับ AstraZeneca เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วย Sinovac เป็นเข็มที่สอง


โดยจะมีการเว้นระยะการฉีดเข็มที่ 2 ตามหลักที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน คือ ซิโนแวคช่วง 3-4 สัปดาห์ และ แอสตราเซเนกา 10-12 สัปดาห์ ก่อนที่ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการเจาะเลือดตรวจหาภูมิหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 1 เดือน และ 3 เดือนตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเริ่มติดต่อกลับหาผู้สมัครในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ก่อนเริ่มการทดสอบต่อไป


ศาสตราจารย์นายแพทย์ยงค์ระบุว่า มีการศึกษาว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า หรือ (อินเดีย) อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เบต้า หรือ (แอฟริกาใต้)


การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษที่พบได้ถึงร้อยละ 96 โดยวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac สามารถลดความรุนแรงและลดอัตราป่วยตายได้ดังเช่นการศึกษาที่ภูเก็ต


จึงคาดว่าในอนาคตถ้ามีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย และจำเป็นต้องใช้ภูมิต้านทานที่ระดับสูงขึ้น ก็อาจใช้วัคซีนที่มี เช่น Sinopharm Pfizer Moderna มากระตุ้น เพียงเข็มเดียวไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็จะได้ผลภูมิต้านทานสูงมาก และจะสูงขึ้นอีกเป็น 10 เท่า ตามหลักการของวัคซีนในเข็มกระตุ้น


ส่วนคนฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า’ และ ’ซิโนแวค’ ครบ 2 เข็ม พบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นในกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 97% หลังรับวัคซีนครบ 4 สัปดาห์


ดังนั้นในภาวะปัจจุบัน เราควรรีบเข้าฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิต หากเชื้อกลายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ก็สามารถกระตุ้นด้วยวัคซีนอื่นๆ หรือ วัคซีนชนิดเดียวกัน ให้ภูมิสูงเพียงพอในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น จนกว่าจะมีวัคซีนใหม่ที่จำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์

คุณอาจสนใจ

Related News