ร้องตรวจสอบ กินอาหารเสริม-กาแฟ 2 ยี่ห้อ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่

สังคม

ร้องตรวจสอบ กินอาหารเสริม-กาแฟ 2 ยี่ห้อ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่

โดย passamon_a

27 ม.ค. 2564

1K views

ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข่าว 3 มิติ นำเสนอคำเตือนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กรณีสุ่มตรวจกาแฟ 2 ยี่ห้อ ที่มีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกลุ่มเดียวกัน ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 7 ขอนแก่น พบสารไซบูทรามีน และซิลเดนาฟิล ผสมในกาแฟดังกล่าว


ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวจังหวัดแพร่ ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ว่ามีผู้เสียชีวิตหลังกินกาแฟนี้ติดต่อกัน 10 วัน จึงร้องขอให้ตรวจสอบว่าเครื่องดื่มดังกล่าว มีสารอันตรายหรือสารต้องห้ามหรือไม่ และวันนี้อนุกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ก็จะเร่งตรวจสอข้อเท็จจริง 


หนังสือที่ลงนามโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทพลังศรัทธากรุ๊ป จำกัด สั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นหนังสือพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดแพร่ ทราบภายใน 15 วัน นับจากที่ได้รับหนังสือนี้ 


จากกรณีหญิงคนหนึ่งที่ ม.5 ตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จ.แพร่ ร้องเรียนว่าสามีของเธอซึ่งมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเก๊าต์ ได้กินอาหารเสริม 2 ชนิด คือ KP 10 m และกาแฟสลิมเชฟ คอฟฟี่เบรนด์ จากนั้นมีอาการปวดตามข้อมือ ข้อเท้า และใจสั่น


ในหนังสือนี้ระบุว่า ผู้ร้องเรียนได้ไลน์ถามตัวแทนหน่าย แต่ก็ยังได้รับคำแนะนำให้กินต่อไปอีก 10 วัน จนในที่สุดก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้ร้องเรียน ต้องการให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่จังหวัดแพร่ ตรวจสอบสาเหตุการตายว่าเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่


ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้ส่งหลักฐานการเสียชีวิตว่า เกิดจากติดเชื้อในกระแสเลือด และมอบเงินแก่ครอบครัวผู้ร้องตามหลักมนุษยธรรม โดยสองฝ่ายไม่ติดใจเอาความ พร้อมลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ร้องกวาง ไว้ 


อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีประเด็นว่า ถึงที่สุดแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ตายดื่มนั้นมีสารต้องห้ามผสมในอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มหรือไม่ ข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ปรากฏ เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจหาสารต้องห้ามหรือไม่ 


ก่อนหน้านี้ ข่าว 3 มิติ นำเสนอเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเสริมและกาแฟ 2 ยี่ห้อ ซึ่งมีชื่อตรงกันดังกล่าว นำไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เขต 7 ขอนแก่น พบว่า กาแฟมีสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย ห้ามผลิตหรือนำเข้า ขณะที่อีกชนิดพบซิลเดนาฟิล ที่มีส่วนผสมไวอากร้า ซึ่งก็อันตรายเช่นกัน


และกรณีผลการพบที่กาฬสินธุ์นั้น คณะกรรมการธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมหลายฝ่าย และเรียกบริษัทดังกล่าวมาชี้แจงเมื่อปลายเดือนธันวาคม แต่บริษัทแจ้งว่าติดคดีความที่ร้อยเอ็ด ทำให้มาพบกรรมาธิการไม่ได้


ขณะที่กรณีล่าสุดนี้ อนุกรรมาธิการฯรับทราบ และระบุว่าจะตรวจสอบใกล้ชิด


ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ระบุเช่นกันว่า ได้รับประสานจากสำนักงาน อย. ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ และยืนยันจะตรวจสอบโดยเร็ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งมาถึงแต่อย่างใด


ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหาและยา ได้อธิบายแนวทางการตรวจสอบก่อนหน้านี้กับข่าว 3 มิติ ว่าการตรวจสอบหาสารต้องห้ามในอาหาร จะยืนยันได้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตรวจเท่านั้น ไม่อาจยืนยันผลิตภัณฑ์กล่องอื่นที่ไม่ได้ตรวจ แม้จะเป็นชื่อหรือยี่ห้อเดียวกันก็ตาม นั่นหมายความว่า การที่พบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ 1 กล่อง มีโทษเปรียบเทียบปรับในกรณีนั้น ๆ ไม่อาจนำไปดำเนินคดี กับผลิตภัณฑ์กล่องอื่น ๆ ที่เหลือได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งเช่นกัน 


ข่าว 3 มิติ ยังติดตามประเด็นนี้ต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่า บริษัทได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นคราชสีมา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เช่นกัน คราวนี้ไม่พบสารต้องห้ามแต่อย่างใด แต่กรณนี้มีประเด็นใดที่ต้องเฝ้าระวังบ้าง ติดตามวันพรุ่งนี้ครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ