เล่าเรื่องไทย ๆ กับสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตอน 'ว่าวควาย - ว่าวเบอร์อามัส' หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย

ไลฟ์สไตล์

เล่าเรื่องไทย ๆ กับสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตอน 'ว่าวควาย - ว่าวเบอร์อามัส' หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย

โดย

14 ก.ย. 2563

782 views

วันนี้(14 ก.ย.63) รายการเล่าเรื่องไทยๆ กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง พาคุณผู้ชมมาที่นิทรรศการหัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ สสป. อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้พามาชมว่าวควาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดสตูล ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม สะดุดตา และว่าวเบอร์อามัส ว่าวทองแห่งมาลายู ซึ่งเป็นหัตถกรรมแห่งชีวิต ของชาวสายบุรี จังหวัดปัตตานี 
ว่าวควายจะมีรูป ลักษณ์ คล้ายกับควาย โดยมีหัว หู จมูก เขาโค้งงอ และมีการประดิษฐ์ลวดลายที่สวยงาม บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสตูล และเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างภูมิปัญญาโบราณ กับคนในยุคปัจจุบัน แต่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เหลือช่างทำว่าวเพียงไม่กี่คน ที่ยังคงอนุรักษ์สืบสานอยู่ อาทิ ครูเวียง ตั้งรุ่น ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ยังคงทำว่าวควายมากว่า ๔๐ ปี และยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาไว้ ซึ่งเอกลักษณ์ของว่าวควายที่มีมาอย่างยาวนานให้คงอยู่ คู่ผืนแผ่นดินจังหวัดสตูล 
ส่วนว่าวเบอร์อามัส  หรือว่าวทองแห่งมาลายู ในอดีตเป็นว่าวของชนชั้นสูงระดับเจ้าเมืองเท่านั้น โดยมีประเพณีการเล่นว่าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเจ้าเมืองแต่ละหัวเมือง เป็นผู้ขึ้นว่าวเป็นคนแรก และก่อนที่เจ้าเมืองจะขึ้นว่าวสู่ท้องฟ้า จะต้องทำพิธีปิดท้องที่หัวว่าวเสียก่อน จึงเรียกว่าว่าวทอง ปัจจุบันว่าวเบอร์อามัสเป็นว่าวการละเล่นของชาวมาลายู ในสามจังหวัดชายแดนใต้  หรือในประเทศมาเลเซีย เป็นภูมิปัญญาใกล้สูญหาย หากไม่มีครอบครัววานิ โดยครูแวฮามิ วานิ และลูกชาย ไวโรจน์ วานิ ที่ยังเหลืออยู่ครอบครัวเดียวในจังหวัดปัตตานี เป็นผู้สืบทอดว่าวเบอร์อามัส  ในปัจจุบัน
สามารถรับชมทางยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/1nAV_AyoAJY

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ