สารคดีพิเศษ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 3

พระราชสำนัก

สารคดีพิเศษ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 3

โดย

31 มี.ค. 2563

706 views

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ด้วยทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยทรงนำศิลปกรรมจีน มาผสมผสานกับศิลปกรรมไทยได้อย่างลงตัว ทำให้เป็นวัดต้นแบบแห่งศิลปะแบบพระราชนิยมในประเทศไทย
"วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้า ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา" คำพรรณนาที่ชื่นชมความวิจิตรงดงามของวัดราชโอรสาราม หรือ ที่นิยมเรียกกันว่า วัดราชโอรส วัดประจำรัชกาลที่ 3 ที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก
วัดราชโอรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ในเขตจอมทอง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง บ้างก็เรียกว่า วัดเจ้าทอง หรือวัดกองทอง เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดา ที่ต่อมาได้พระราชทานนามวัดขึ้นใหม่ว่า วัดราชโอรส หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา 
ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร พระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานเป็นพระประธาน ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธาน และที่ใต้ฐานชุกชีประดิษฐาน พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และศิลาจารึกดวงพระชันษาของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจน พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จสรรเพชญพุทธบพิตร หรือ พระนอนขนาดใหญ่ และพระแท่นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงใช้ขณะทรงคุมการบูรณปฏิสังขรณ์วัด
วัดแห่งนี้ นับว่ามีความสวยงามแปลกตาไปจากวัดอื่น โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้ ทรงนำศิลปกรรมจีนมาผสมผสานกับศิลปกรรมไทย และมีการนำแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก เห็นได้จากพระอุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นคลอง และพระอุโบสถจะมีจิตรกรรมฝาผนัง ที่ตกแต่งด้วยลายเครื่องตั้งมงคลจีน แทนภาพทศชาติชาดก หรือ พุทธประวัติ อีกทั้งมีตุ๊กตาจีนขนาดใหญ่ตั้งประดับที่หน้าประตู รวมถึงอาคารต่างๆ นับเป็นการประยุกต์ระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนและไทยได้อย่างลงตัวเป็นครั้งแรก สมกับเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนาที่งดงาม0

แท็กที่เกี่ยวข้อง