ประชาสัมพันธ์

สุดยิ่งใหญ่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ‘พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล’

โดย paweena_c

26 ส.ค. 2567

12 views

ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีประเทศไทย การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ‘พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล’ ชาวบุรีรัมย์เจ้าภาพต้อนรับสุดอลังการ ผู้เข้าร่วมงานกว่าหมื่นคน

25 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) ณ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์


การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการกลางสนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ มีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยรัฐมนตรี หัวหน้าคณะประเทศต่าง ๆ และเลขาธิการอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโส เอกอัครราชทูต ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียน และติมอร์-เลสเต ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการและจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิด รวมทั้งชาวจังหวัดบุรีรัมย์ในฐานะเจ้าบ้านมาร่วมต้อนรับโดยพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองเต็มสนามช้างมากกว่าหมื่นคน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับคณะผู้มาเยือน



เริ่มต้นพิธีเปิดการประชุมด้วยการบรรเลง Orchestra เพลงอาเซียน และเพลงชาติไทยที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งสนาม จากนั้นมีการแสดงเปิดงาน ชุด “Welcome to Thailand” แสดงถึงวัฒนธรรมของไทย ศิลปะการแสดงแบบอีสานใต้ ผสมผสานการแสดงที่สื่อถึงโลกยุคดิจิทัลได้อย่างกลมกลืน  


จากนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการตอนหนึ่งว่า “ในนามของประชาชนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ผมขอต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทยและการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดบุรีรัมย์ เมืองที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาแห่งนี้ ประเทศไทยถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล”

ซึ่งที่จังหวัดบุรีรัมย์แห่งนี้ ไม่เพียงเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าในการบูรณาการเทคโนโลยีกับการพัฒนาท้องถิ่น และการริเริ่มเชิงกลยุทธ์ในการเป็นเมืองอัจฉริยะ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ชนบท เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมดิจิทัล และตอบสนองต่อการเป็นเมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทำให้บุรีรัมย์เป็นตัวอย่างที่ดีในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการหารือเกี่ยวกับการสร้างอนาคตการศึกษาและการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก”


การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ประกอบด้วย 3 การประชุมหลัก ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม (APT EMM) ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา (EAS EMM) ครั้งที่ 7 โดยการประชุมทั้งหมดจะจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2567 ณ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2567 ได้มีการจัดประชุมระดับปลัดกระทรวงเพื่อพิจารณาข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย และ H.E. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในการส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับอาเซียน และประเทศคู่เจรจา เพื่อผลักดันประเทศในภูมิภาค สู่การบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ อย่างยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต

สำหรับการประชุมในช่วงสองวันนี้ เปิดโอกาสให้ รัฐมนตรีด้านการศึกษาจากอาเซียน, อาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวชีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาการศึกษา เพื่อรับมือกับแนวโน้มใหญ่ระดับโลกที่กำลังหล่อหลอมอนาคตการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลง จากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่ และการยกระดับทักษะเพื่อให้แรงงานมีความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่น และแข่งขันได้

ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการปรับตัวของพลเมืองอาเซียนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่สถานศึกษาในพื้นที่ เช่นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนมีชัยพัฒนา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning การเสริมทักษะชีวิต การพัฒนานวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี AI ในการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน H.E. Ekkaphab Phanthavong

รองเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และจัดพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจ

นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่าง ASEAN-SEAMEO เช่น โครงการ “Intra-ASEAN Scholarship Programme for ASEAN Nationals” โดยเป็นการพัฒนาทุนการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา และ โครงการ “ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on the Common Space in Southeast Asian Higher Education” ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียนและซีมีโอ เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกในฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นต้น




คุณอาจสนใจ