ประชาสัมพันธ์

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อทันตสุขภาพที่ดีแก่พระสงฆ์ ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ จ.ลำพูน

โดย passamon_a

28 ส.ค. 2566

17 views

วันนี้ (27 สิงหาคม 2566) เวลา 08.30 น. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อทันตสุขภาพที่ดีแก่พระสงฆ์ ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ ต.ต้นธง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เพื่อถวายเป็นพระกุศลในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี


กิจกรรมประกอบด้วยการให้บริการทางทันตกรรมแก่พระภิกษุสงฆ์กว่า 200 รูป ทั้งการตรวจสุขภาพ ช่องปาก การอุดฟัน ถอนฟัน การขูดหินน้ำลาย การเคลือบหลุมร่องฟัน และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย(ธ) ในพระราชูปถัมภ์ หนึ่งในเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้จัดพิธีเปิดสถานีบรรจุน้ำดื่มพัชรธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชยได้ดําเนินการต่อเนื่องจากโครงการน้ำดื่มพัชรธรรม ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้เสด็จทรงเปิดสถานีน้ำดื่มพัชรธรรม แห่งที่ 1 เมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์แห่ง นี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำดื่มสะอาด ถูกสุขอนามัยไว้บริโภค รวมทั้งช่วยลด รายจ่ายในการซื้อน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง


สำหรับความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฯและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อทันตสุขภาพที่ดีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทันตกรรมแก่พระสงฆ์ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริ พัชรมหาวัชรราชธิดา




ประกอบกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักถึงความสำคัญในปัญหาเรื่องสุขภาพฟันและช่องปากของประชาชนซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในประชากรหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์ได้รับความลำบากในการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เนื่องจากต้องปฏิบัติตามหลักธรรมวินัย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการฯเพื่อให้การตรวจรักษาทางทันตกรรมสำหรับพระสงฆ์ได้อย่างมีคุณภาพ เน้นส่งเสริมการทำงานในวิชาชีพที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และเป็นการกระจายการบริการทางทันตกรรมให้ทั่วถึง


โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณาจารย์ ทันตแพทย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่จากคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณค่าใช้จ่าย บุคลากรและเจ้าหน้าที่ จากมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้การบริการด้านทันตกรรมเคลื่อนที่นับตั้งแต่การตรวจสุขภาพ การรักษา และการให้ความรู้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีผลงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมทั้งในระดับภาคเหนือและระดับประเทศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธาน กรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ทรงรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าเป็นเครือข่ายของมูลนิธิฯ เมื่อครั้งเสด็จไปทรงเปิดสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ณ ศูนย์สาธิตการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ด้านป่าไม้ที่ 1 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่


เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ได้เคยเสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทอดพระเนตรผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สามารถนำมาให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันบรรเทาภัยพิบัติ และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยรวมถึงการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคเหนืออย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะเครือข่ายของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้สนองพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาธุรกรรมสินค้าออนไลน์ชุมชนของมูลนิธิฯ โดยสามารถพัฒนาและสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือขายสินค้าของตนผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและภาคเศรษฐกิจชุมชนในภาคเหนือได้เป็นอย่างมาก


คุณอาจสนใจ

Related News