เลือกตั้งและการเมือง
‘พิธา’ แปลกใจ 14 เดือนผ่านไป ‘เพื่อไทย’ ยังไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตามหาเสียง
โดย petchpawee_k
16 พ.ย. 2567
112 views
"พิธา" หวังรัฐบาลขึ้นค่าแรง 400 บาทรอบนี้จะสำเร็จ หลังประวิงเวลานาน 14 เดือน แนะดูแล มาตรการภาษีฝั่ง SME ให้อยู่รอด มองแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุก่อนเป็นไปตามคาด ไม่รู้กลุ่มอื่นจะได้หรือไม่ เหตุเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ ไม่ตรงตามหาเสียงแล้ว ตั้งข้อสังเกตมีความคืบหน้าโครงการทุกครั้ง ที่เลือกตั้ง อบจ. สรุปเป็นเทคนิคการหาเสียงหรือเป็นเรื่องที่ตั้งใจจริง
วันที่ 16 พฤศจิการยน 2567นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ที่เตรียมจะเข้า ครม.19 พฤศจิกายน ว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้ขึ้นค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่มันต้องคิดควบคู่กันไประหว่างฝั่งค่าแรง กลับฝั่ง SME ที่จะต้องมีมาตรการภาษีไปช่วยเขา ซึ่งต้องให้เครดิตกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยคิดแบบนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าเหตุใดตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงเลย
และเท่าที่เข้าใจคือตอนขึ้นเวทีดีเบตหาเสียงด้วยกัน คือปีแรก 400 500 600 และ 700 แต่นี่พฤศจิกายน 2567 แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาเป็นนายกฯ 24 สิงหาคม 66 ผ่านไป 14 เดือนแล้ว ค่าแรงยังไม่ขึ้น พี่น้องแรงงานก็เลยคิดว่าทำไมสัญญาไม่เป็นสัญญา แล้วทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น
เมื่อถามว่ารอบนี้จะขึ้นได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า มีความพยายามจะขึ้นเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สมุย ที่ค่าแรงสูงอยู่แล้ว แต่ตนก็หวังว่า จะไม่ประวิงเวลาแล้ว และสิ่งที่ตัวเองแปลกใจก็คือ เวลามีการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งหนึ่งก็จะสัญญาในลักษณะนี้ จำได้ว่าตอนเวทีอบจ.พิษณุโลก ก็มีคนของพรรคเพื่อไทยขึ้นเวที แล้วก็บอกว่าเงินหมื่นกำลังจะมา และพอมาเลือกตั้ง อบจ.อุดรธานีก็บอกอีกว่าเงินหมื่นสำหรับผู้สูงอายุกำลังจะมา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเขาเป็นรัฐบาลมาตั้ง 14 เดือน มันน่าจะทำตามสัญญาได้ตั้งแต่ตอนแรก เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ดังนั้น หวังว่า มันจะไม่ใช่การขายฝัน เพราะตนก็เข้าใจหัวอกของพี่น้องแรงงาน เข้าใจถึงหัวอกผู้สูงอายุ ที่เขาลำบากจริงๆ ไม่อยากจะเอาเรื่องนี้ มาเป็นประเด็นทางการเมือง
"แต่สิ่งที่ต้องถามคำถามคือการหาเสียง 2-3 วันที่ผ่านมา เขาหาเสียงเหมือนเขาเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้หาเสียงเหมือนตัวเองเป็นรัฐบาล ไม่ได้หาเสียงเหมือนนายกเศรษฐาเป็นนายกมาก่อน ตอนนี้ก็ 14 เดือนแล้ว ที่สามารถจะทำได้ง่ายๆ วิธีที่จะให้เงิน 10,000 บาทอะไรก็แล้วแต่ คุณศิริกัญญา นำเสนอมาโดยตลอด และธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยทักท้วงมาตลอด แต่นี่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาวนไปวนมา และสุดท้ายก็วนกลับมาทำให้ประชาชนต้องรอถึง 14 เดือน ค่าแรงที่บอกจะขึ้นก็ไม่ขึ้น ก็ไปดูเฉพาะที่มันสูงกว่าอยู่แล้ว หรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว แล้วก็ยังรอเวลามาจนถึงทุกวันนี้ ผมก็คิดว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม ว่ามันเป็นเทคนิคการหาเสียงหรือเป็นเรื่องที่ตั้งใจจริง"
นายพิธา ยังกล่าวถึงการแจกเงินหมื่นกลุ่มผู้สูงอายุ ว่า การแจกเงินไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป สิงคโปร์ก็มีการแจก แต่มันต้องดูพื้นที่การคลังของแต่ละประเทศด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาเรื่องของระยะสั้นก่อน ควรจะแจกกลุ่มบอบบาง ซึ่งคุณศิริกัญญา ตันสกุล ก็แนะนำมาเป็นปีแล้ว แต่ก็ไม่ยอมฟังกัน
เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มอื่นๆที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับเงินหมื่นหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนไม่ทราบวิธีคิดจะเป็นอย่างไร เพราะตอนที่เป็นนโยบายยื่นให้ กกต.หรือขึ้นเวทีปราศรัย เขาก็ไม่ได้พูดแบบนี้ เขาบอกว่าจะเป็น blockchain เป็นดิจิตอล wallet และแจกพร้อมกัน ถ้วนหน้าตั้งแต่ 16 ปี ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างน้อยตอนที่ตนยังไป สส.อยู่ ก็จำได้ว่าเปลี่ยนไปถึง 7-8 ครั้ง ทำให้มันไม่รู้เลย ว่า อะไรจะเป็นอะไรแล้ว