เลือกตั้งและการเมือง

'นิกร' เผยรายงานศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษฯ เข้าสภา 26 ก.ย. - 'ธนกร' ย้ำจุดยืน ต้องไม่รวม ม.112

โดย passamon_a

22 ก.ย. 2567

31 views

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.67 นายนิกร จํานง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเสนอรายงานของ กมธ. ต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า เรื่องนี้เสร็จมาเป็นเดือนแล้ว แต่เนื่องด้วยจังหวะของสภาฯ จึงขยับไปพิจารณาในวันที่ 26 กันยายน ซึ่ง กมธ.มีข้อสรุปสำคัญของทุกเรื่อง ทั้งสภาพปัญหา และรูปแบบของคณะกรรมการ


นายนิกร กล่าวว่า ความเห็นที่สำคัญของรายงานการศึกษาฉบับนี้ คือความเห็นต่างเรื่องมาตรา 112 ว่าจะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงาน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข


นายนิกร กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ข้อสังเกตของรายงาน ที่ระบุว่า ให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอของ กมธ. คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 48 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง


นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า กรณีมาตรา 112 เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล อาจจะส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องไปหารือกันว่าจะตีความเรื่องนี้อย่างไร


ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ซึ่งให้สภาร่วมกันพิจารณาในความเห็นต่างเรื่องคดีมาตรา 112 จะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งทราบว่าในคณะ กมธ.เองไม่สามารถหาข้อสรุป จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม มาตรา 112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวม อย่างมีเงื่อนไข และ 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข


โดยส่วนตัว ได้ยืนยันมาตลอด ว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ


ทั้งนี้ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ก็ชี้ชัดแล้วว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการ รณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับ ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้ ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์ สส. เลือกข้อ 1. ไม่รวมมาตรา 112 ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่นด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง


ยกคดียุบพรรคก้าวไกลมาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจน ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26 ก.ย. มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/DP1aGJ_1TD4


คุณอาจสนใจ

Related News