เลือกตั้งและการเมือง
‘วิโรจน์’ ฟาดแรง ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ หูทวนลมแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดูดเงิน ปล่อยคนไทยตายนับศพไม่ถ้วน
โดย nicharee_m
14 ก.ย. 2567
574 views
‘วิโรจน์’ ฟาดแรง ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ถ้าปกป้องประชาชนจากระบบการชำระเงินไม่ได้ ปล่อยให้คนไทยตายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์นับศพไม่ถ้วน ผู้ว่าฯ ธปท.ควรพิจารณาตัวเองได้แล้ว
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความ ระบุ ถ้าปกป้องประชาชนจากระบบการชำระเงินไม่ได้ ปล่อยให้คนไทยตายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์นับศพไม่ถ้วน ผู้ว่า ธปท. ควรพิจารณาตัวเองได้แล้ว
ปกติแล้วเวลาที่คนพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักจะ Focus ไปที่ตำรวจ และกระทรวงดีอี แต่หน่วยงานที่เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ และปัจจุบันยังคงนอนคดไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น ใครมีข้อเสนอแนะอะไรก็ทำเป็นหูทวนลม ต้วมเตี้ยมศึกษานั่นโน่นนี่ ในบางกรณีก็อ้างเรื่อง Financial Literacy โทษปัญหาไปที่ประชาชน นั่นก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผู้ว่าการ ที่ชื่อว่า
“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”
3 เสาหลักของ ธปท. ที่ผู้ว่า ธปท. นั่งเป็นประธานอยู่ ประกอบไปด้วย เสาที่ 1 คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสาที่ 2 คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และเสาที่ 3 คือ คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่คอยโทรศัพท์หลอกเงินประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทั้งหมดอาศัยช่องทางของระบบการชำระเงิน ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งสิ้น ผู้ว่า ธปท. น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ความเสียหายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นั้นมีมูลค่ามากกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท (บางรายงานระบุถึง 450,000 ล้านบาท วันละ 700 คดี ได้เงินคืนเพียงแค่ 2%) และน่าจะรู้อยู่แล้วว่า เหยื่อส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ที่ถูกหลอกเงินที่พวกเขาเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต เพื่อจะได้ใช้ดูแลตัวเองยามบั้นปลาย
แต่ผู้ว่า ธปท. อาจจะไม่รู้ว่า ไม่ใช่แค่เงินที่สูญเสียไป แต่มีประชาชนคนไทยกี่รายแล้ว ที่ต้องฆ่าตัวตายหลังจากที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเงินจนสิ้นเนื้อประดาตัว
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ระบบการชำระเงินของธนาคารพาณิชย์ เป็นเครื่องมือในการหลอกเงินประชาชน ในฐานะของความเป็นผู้ว่า ธปท. ที่กำกับทั้งสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน จะไม่ทำอะไรให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้เลยหรือครับ
ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาที่ 6233/2564 (แม้จะเป็นคดีบัตรเครดิต แต่สามารถนำเอาพฤติการณ์มาเทรยบเคียงได้) ออกมาแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย ไม่ใช่ลอยแพให้เหยื่อต้องรับกรรมคนเดียว
ผมถามผู้ว่า ธปท. ว่า เหตุผลสำคัญสูงสุดที่ประชาชนเขาเอาเงินไปฝากธนาคาร คือ อะไร ปัจจุบันเขาไม่ได้หวังดอกเบี้ยกันแล้ว แต่เขาหวังว่าธนาคารจะดูแลปกป้องเงินของเขา และถ้าเงินของเขาหายภายใต้การดูแลของธนาคาร ธนาคารจะต้องพร้อมรับผิดชอบ นี่คือวัตถุประสงค์สำคัญ ของการมีองค์กรทางเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า "ธนาคาร" ท่านผู้ว่า ธปท. ไม่ทราบจริงๆ หรือครับ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้ว่า ธปท. จะต้องไม่เกรงใจนายแบ๊งค์ ต้องกล้าที่จะออกประกาศที่กำหนดความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ ในกรณีที่เงินในบัญชีของลูกค้า ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกดูดเอาไป โดยอ้างอิงถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564 และคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ 468/2566 (แม้ว่าจะเป็นกรณีของบัตรเครดิต แต่สามารถนำเอาพฤติการณ์มาพิจารณาเทียบเคียงได้) ผมคิดว่าในกรณีที่ลูกค้าธนาคาร ถูกการควบคุมทางไกล หรือถูก Application ดูดเงินออกจากบัญชี ธนาคารพาณิชย์ ในฐานะที่ดูแลปกป้องเงินในบัญชีของลูกค้า ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายเต็มจำนวน เพราะธนาคารไม่ควรปล่อยให้เหล่า Scammer มาเจาะระบบความมั่นคงของธนาคารได้
ผมยืนยันว่า ตราบใดที่ธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายอะไรเลย ธนาคารก็จะไม่มีความกระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ Mobile Banking ของตนเอง
และผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ว่า ธปท. จะเร่งประสานงานกับ National ITMX ที่เป็นบริษัทผู้ให้บริการการโอน และการชำระเงินผ่านระบบ Prompt Pay ให้ปรับปรุงระบบการโอนชำระเงิน เพื่อรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น การหน่วงการโอนเงิน (Slow Payment) สำหรับการโอนเงินในยอดที่มูลค่าสูง ซึ่งอาจจะมีการหน่วงเวลา 5-20 นาที ตามมูลค่าของยอดโอน เพราะเหยื่อจำนวนมาก มักจะรู้ตัวแทบจะทันทีหลังจากที่กดโอนเงินออกไป ถ้ามีระบบการหน่วงเงินเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้เป็นจำนวนมาก ไม่ให้ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว และระยะเวลา 5-20 นาที ก็ไม่ได้เป็นระยะเวลาที่ส่งผลต่อการทำธุรกรรมการค้าการขายมากนัก
ผมเชื่อว่าท่านผู้ว่า ธปท. ก็ต้องเคยรับสายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พ่อแม่และคนในครอบครัวของท่าน ก็ต้องเคยรับสายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ต่างจากประชาชนคนอื่น เพียงแค่ว่าท่านอาจจะไม่ห่วงพ่อแม่ และคนรอบตัวของท่านมากนัก เนื่องจากท่านมี Financial Literacy ในระดับสูงจนสามารถที่จะปกป้องคนในครอบครัวท่านได้
แต่ในฐานะของความเป็น “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ท่านไม่ได้มีหน้าที่แค่ปกป้องญาติ หรือคนในครอบครัวของท่าน แต่ท่านมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องเงินในบัญชีธนาคารของคนไทยทั้งประเทศ ให้รอดพ้นจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และด้วยอำนาจหน้าที่ของท่าน ในฐานะที่เป็นประธาน กนส. และ ประธาน กรช. ท่านทำได้
ถ้าท่านยังไม่ทำ ยึกยักที่จะทำ อ้างโน่นอ้างนี่เพื่อซื้อเวลาที่จะทำ หรือใส่เกียร์ว่างไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2568 ซึ่งเป็นวันที่ท่านพ้นจากวาระการเป็นผู้ว่า ธปท. แล้วก็ปล่อยให้คนไทยต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ครอบครัวสูญสิ้นแตกร้าว หลายคนต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายศพแล้วศพเล่า
ผมอยากให้ท่านผู้ว่า ธปท. ส่องกระจก แล้วถามตัวท่านเองว่า “คนแบบนี้ ยังสมควรเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่หรือไม่ แล้วเมื่อตายไป จะกล้าไปมองหน้าอาจารย์ป๋วย หรือเปล่า และจะไปอธิบายกับทุกดวงวิญญาณ ที่ต้องจบชีวิตจากการที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างไร”
หวังว่าท่านผู้ว่า ธปท. จะรับข้อเสนอแนะของผม ไว้พิจารณา
ต่อมา นายวิโรจน์โพสต์อีกว่า “ถ้าผู้ว่า ธปท. สนใจความเป็นอยู่ของคน สนใจเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนจริง ท่านต้องใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากกว่านี้ เร็วกว่านี้
การที่นายเศรษฐพุฒิ จะไปปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับแนวคิด ในเรื่องรายได้ครัวเรือน และการเติบโตของ GDP ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่หลักของเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาสภาพัฒน์ฯ ก็คงไม่มีใครว่า เพราะเป็นสิทธิของนายเศรษฐพุฒิในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว
แต่นายเศรษฐพุฒิ ควรหันกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะผู้ว่า ธปท. ในการปกป้องบัญชีเงินฝาก และความปลอดภัยของการโอนเงิน ของประชาชน เพื่อให้เงินในบัญชีของประชาชนปลอดภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย
หน้าที่คนอื่น ท่านจะไปพูดเสริม ผมไม่ว่า แต่ท่านต้องไม่ลืมที่จะหันกลับมารับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง”
และล่าสุดนายวิโรจน์โพสต์ว่า ธปท. ไม่เปิดเผยรายงานการประชุม กรช. แล้วประชาชนจะรู้ถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างไร
ผมได้ทำหนังสือไปยัง ธปท. เพื่อขอรายงานการประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) เพื่อติดตามว่า ธปท.
1) มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร มีกำหนดการแล้วเสร็จเมื่อใด
2) มีความตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกจนหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ผู้สูงอายุสูญเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตจนหมดอาลัยตายอยาก ครอบครัวที่ล่มสลายมีหนี้สินล้นพ้นตัว และคนที่ตัดสินใจจบชีวิตฆ่าตัวตาย หรือไม่
3) มีความตระหนักถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหานี้มากเพียงไร
แต่ปรากฎว่า ธปท. อ้างมาตรา 74 ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมเปิดเผยรายงานการประชุม
ไม่เปิดเผย ก็ไม่เป็นไร แต่การแก้ไขล่าช้า ไม่ใส่ใจในชีวิตของประชาชน นายเศรษฐพุฒิ ในฐานะที่เป็นผู้ว่า ธปท. จะชี้แจง และออกมารับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร
ถ้านายเศรษฐพุฒิใส่ใจกับความมั่งคั่งของคน ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของระดับครัวเรือน เหมือนกับที่ไปปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” และไม่ลืมคำพูดของตนเอง ที่เคยพูดเอาไว้ว่า “หน้าที่ของคนแบงก์ชาติ "ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น” (Ref: https://www.thaipbs.or.th/news/content/339698) วันนี้ในฐานะผู้ว่า ธปท. ก็ควรหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แล้ว
- เร่งออกมาตรการการหน่วงเงิน หรือมาตรการอื่นใดในการเพิ่มระดับความปลอดภัยของระบบการชำระเงินได้แล้ว อย่ามัวแต่เกรงใจบริษัทเอกชนผู้ให้บริการการโอนชำระเงิน
- เร่งออกมาตรการในการกำหนดความรับผิดของธนาคารพาณิชย์ที่ได้สัดส่วน โดยไม่ปล่อยให้เจ้าของบัญชีรับผิดชอบแต้เพียงผู้เดียว
ทั้งสองมาตรการนี้ นายเศรษฐพุฒิ จะทำกี่โมง ช่วยตอบประชาชนด้วย
รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/xqXDSGdr370
แท็กที่เกี่ยวข้อง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ,ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ,แก๊งคอลเซ็นเตอร์