เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง มุ่งมั่นยกระดับความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ให้ก้าวหน้า

โดย thichaphat_d

17 ธ.ค. 2566

55 views

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษมุ่งมั่นยกระดับความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ให้ก้าวหน้า “การเดินกับมิตรในความมืดมิด ยังดีกว่าเดินลำพังในแสงสว่าง” 

วันนี้ (17 ธันวาคม 2566) เวลา 10.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (the ASEAN-Japan Commemorative Summit for the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) ช่วงที่ 1 Plenary Session ในหัวข้อ Review of ASEAN-Japan relations และ Partners for Peace and Stability & Regional and International Issues โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่นสําหรับการต้อนรับที่อบอุ่น โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนาน รวมถึงการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในปีนี้ยังเกิดจากความสัมพันธ์ที่โดดเด่นมาตลอดระยะเวลา 50 ปี แสดงถึงความสำเร็จที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจ ในการนำสันติภาพ เสถียรภาพ ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาสู่ภูมิภาค

สำหรับการกำหนดทิศทางอาเซียน – ญี่ปุ่นด้วยวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตและความเปราะบางของสันติภาพโลก รวมทั้งความมั่นคงในภูมิภาคที่เกี่ยวโยงกัน จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในการแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงยังเน้นย้ำถึงความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพของอาเซียน ซึ่งทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วมกันของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความร่วมมือในภูมิภาค

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ประการ ดังนี้

-การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก้าวหน้า

-การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว

-ความมั่นคงด้านสุขภาพ

-------------------------------------------

นายกฯ เผย ผลถก JETRO ขอดูแลนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ยืนยัน รบ. จะสนับสนุนต่อ บอกคุยประธานคูโบต้าราบรื่น เล็งช่วยพัฒนารายได้เกษตรกรไทย ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการหารือกับผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้บริหารบริษัทคูโบต้าว่า JETRO ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุนกิจที่ติดต่อจะไปลงทุนที่ประเทศไทย ก็ได้มาขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยเราหวังว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อไป พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ดีมากกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนและกว่า 6,000 บริษัทที่มาทำงานในประเทศไทย ฉะนั้นตรงนี้ทุกอย่างมองตาก็รู้ใจอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า JETRO อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็ดูแลในเรื่องระบบที่กำลังเปลี่ยนถ่ายเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และจากที่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้พบกับ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ตนก็ได้ให้ความชัดเจนเรื่องของนโยบายที่จะสนับสนุน พร้อมชี้แจงว่าอยากให้เข้ามาลงทุนเร็วขึ้น โดยหลายบริษัทก็รับไปพิจารณาต่อ

ทั้งนี้ ไทยยืนยันในเรื่องของสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) ระหว่างไทย อียู และสหราชอาณาจักร ที่ขับรถพวงมาลัยขวาตรงนี้ก็มีการยืนยันว่าจะเร่งเจรจาให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย เพราะโดยเฉลี่ยในประเทศใช้เอง 30% ส่งออก 70% ดังนั้นการที่เราเร่งในเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น ก็จะเป็นการย้ำว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถควบคุมได้

ส่วนการเปลี่ยนขยับไปทำเรื่องโรงงานอีวี ก็เร็วขึ้นในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะของอีซูซุ และโตโยต้า

ส่วนการหารือกับผู้บริหารคูโบต้า จะมีความร่วมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับเกษตรกรไทยอย่างไรบ้างนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารคูโบต้าถือเป็นการประชุมที่ดีมาก ซึ่งเราเข้าใจผิดว่าคูโบต้าขายแต่รถไถอย่างเดียว แต่เขามีเทคโนโลยีเรื่องของการอัดแน่นซังข้าวโพดที่ไปทำถ่านไร้ควันและเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชของอนาคต และปัจจุบันในเรื่องของการไถและเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งทางคูโบต้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พืชในอนาคตของประเทศไทย เช่น ถั่วเหลืองไทยนำเข้าปีละล้านตัน แต่เราผลิตเองได้เพียงหลังหมื่น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวที่ไม่คุ้มต้นทุน ฉะนั้นจึงพูดคุยกับทางคูโบต้าที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการทำระบบชลประทานในภาคการเกษตร ซึ่งระบบครบวงจรเกษตรกรรมทางคูโบต้าดำเนินการอยู่ มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา ตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็นสามเท่าภายในสี่ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องดี อีกทั้งทางประธานใหญ่คูโบต้าก็ให้การสนับสนุนเต็มที่

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ตนได้ขอให้คูโบต้าทำเรื่องการให้เงินกู้กับสัญญาเช่าซื้อมากกกว่าการขายอย่างเดียว และให้ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ทีมงานก็จะไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

------------------------------------------

นายกฯ ยันโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่แย่งธุรกิจเพื่อนบ้าน เหตุช่องแคบมะละกาแออัด ทำการขนส่งล่าช้า เชื่อทำสำเร็จช่วยการขนส่งทั้งโลก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายในงานสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จากนี้บีโอไอ กระทรวงคมนาคมจะต้องตามเรื่องดังกล่าวต่อกับนักลงทุน และในเรื่องนี้บริษัทในอาเซียนเอง เช่น จากประเทศอินโดนีเซียก็ให้ความสนใจ ซึ่งก่อนเดินทางมาญี่ปุ่นก็มี เอกชนกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มาเจอตน โดยแสดงความสนใจอย่างมากที่จะร่วมลงทุนด้วย ซึ่งก็ต้องพูดคุยกัน เพราะผลประโยชน์ของภูมิภาคนี้ ขึ้นอยู่กับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่าการพูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ เราจะนำเสนออะไร นายกฯ กล่าวว่า เราจะบอกความตั้งใจในการดำเนินโครงการ เพราะปริมาณสินค้าที่ ขนถ่ายผ่านช่องแคบมะละกา เช่น น้ำมัน ที่ทั่วโลกใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนส่งถึง 60% ซึ่งช่องแคบมะละกามีความแน่นอาจเกิดอาจเกิดอุบัติเหตุได้ และทำให้มีความล่าช้าในการขนส่งต้นทุนก็อาจสูงขึ้น ฉะนั้นการที่เราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ใช่การแย่งธุรกิจ เพราะกว่าจะเสร็จประมาณ 10 ปีปริมาณการค้าทางทะเลทั่วโลกก็จะสูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อนบ้านเราทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ที่คาดว่ารายได้ตรงนี้จะหายไป เพราะผลสำรวจเบื้องต้นการค้าขายทางเรือจะสูงขึ้น แต่หากไม่มีจะเป็นปัญหา และช่องแคบมะละกาในปัจจุบันมีความหนาแน่น หากเราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะช่วยการขนส่งของทั้งโลก


https://youtu.be/RtiLxsec0Y8

คุณอาจสนใจ

Related News