เลือกตั้งและการเมือง

'ภูมิธรรม' หนุนแนวคิด 'เศรษฐา' ดึง 'ทักษิณ' ช่วยประเทศ – 'สว.สมชาย' แตะเบรก เตือนต้องรอบคอบ อย่าใจด่วนใจเร็ว

โดย thichaphat_d

23 ก.ย. 2566

76 views

วานนี้ (22 ก.ย.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว บลูมเบิร์กทีวีว่า หากนายทักษิณ ชินวัตร พ้นโทษก็จะให้มีบทบาทในรัฐบาลนี้ โดยอาจจะดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลชุดนี้ ว่า เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่อยากได้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ของนายทักษิณ ก็ต้องไปดูว่ามีข้อติดขัดอะไรทางด้านกฎหมาย

ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีปัญหาตรงนี้อย่างไร แต่คิดว่าหากพ้นทุกอย่างแล้ว การให้ข้อคิดเห็นข้อแนะนำ เป็นบทบาทที่นายทักษิณทำได้ ซึ่งท่านก็พูดอยู่เสมอว่า กลับมาคราวนี้ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ท่านก็จะอยู่กับครอบครัว ส่วนเรื่องของประเทศชาติไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ถ้าสามารถช่วยได้ก็ยินดี และตนคิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเป้าหมายอยู่ที่ประเทศชาติดีขึ้น เพราะการบริหารราชการแผ่นดินนายทักษิณมีประสบการณ์ สามารถบริหารมา 6 ปีต่อเนื่อง ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าหากมีความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็นจากท่านไป

ส่วนหากเป็นแค่เป็นที่ปรึกษาแต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองจะไม่เกิดความขัดแย้งอะไรใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่แล้ว นายทักษิณก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ห่วงใยบ้านเมือง และสามารถให้ข้อคิดเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ได้

------------------------

'สว.สมชาย' แตะเบรก 'เศรษฐา' หลังจ่อตั้ง 'ทักษิณ' นั่งที่ปรึกษาฯ หลังพ้นโทษ บอกอย่าใจด่วนใจเร็ว ควรพิจารณารอบคอบ หวั่น กระทบความเชื่อมั่น รบ. แนะ ขอคำปรึกษาอดีตนายกฯ อื่นแทน จี้ เร่งต่อยอดงานจากยุคลุงตู่ที่ทำไว้ให้ดีขึ้น เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจงขั้นตอนการรักษา 'ทักษิณ' จันทร์นี้

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ต้องดูในหลักนิติธรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะในการควบคุมนักโทษ จะดำเนินการอย่างไร ให้เป็นกระบวนทางการกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ

แม้นายทักษิณ จะเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มีคุณงามความดี แต่ก็มีคดีติดตัวถึง 3 คดี ซึ่งตนคิดว่าเพื่อให้เกิดหลักนิติธรรม และเกิดการสร้างความปรองดองในประเทศ ควรพิจารณาเรื่องนิติธรรมควบคู่ไปกับความเหมาะสม ตนมองนายทักษิณ ควรเข้าสู่ระบบนิติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเปิดเผยการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพยาบาลตำรวจ ที่ยังไม่ทราบเรื่องว่า ทำการรักษาอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ ในวันจันทร์หน้า (25 ก.ย.) กรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ รวมถึงผู้อำนวยการทัณฑสถาน ที่ดูแลอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ และเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขั้นตอนการรักษา มีมาตรฐานอย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นก้าวล่วง ถามถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ

ขณะเดียวกันการที่นายเศรษฐา พูดถึงนายทักษิณ จะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านด่านที่ 1 ก่อน ตนย้ำว่าอยากให้นายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการรับโทษ ส่วนเกณฑ์การขอรับโทษเพิ่มเติม ตนคิดว่านายทักษิณได้มากพอสมควรแล้ว ในระยะเวลาที่เหลือนั้นควรดำเนินการให้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งตัวนายทักษิณเอง ก็เคยพูดเสมอว่า อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบุรุษในเรื่องคดีความแบบนี้ อีกทั้งอดีตผู้นำหลายประเทศ ที่มีคดีทุจริต ก็ต่างเข้าสู่กระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หลักนิติธรรมที่นายเศรษฐา พูดประการแรกคือต้องทำให้ นายทักษิณอยู่ในความน่าเชื่อถือ โดยไม่ได้คืบเอาศอก ไม่ได้ศอกเอาวา ประการต่อมา ถ้านายทักษิณจะเป็นต้นแบบในการปรองดอง ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะหยุดคดีความเรื่องของความขัดแย้งในอดีตหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 2547-2548 จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 ในคดีการชุมนุมของกลุ่ม นปก.และ กลุ่ม นปช. ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงคดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลาง คดีอื่นๆ ถ้าเป็นเหตุเรื่องการเมือง ที่ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่มีความเสียหายด้านทรัพย์สิน

สิ่งเหล่านี้น่าได้รับการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการปรองดอง ที่พิจารณาออก พรก. นิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เว้นแต่คดีมาตรา 112 ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอภัยโทษ อาจต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอง และต้องสำนึกผิดเอง คิดว่าเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีควรเร่งดำเนินการ ถ้าเป็นได้นายทักษิณอยู่ครบในเรือนจำ 1 ปี เรื่องของการปรองดอง อภัยซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยอมรับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการอภัยซึ่งกันและกัน ต้นคิดว่าถ้าทำพร้อมกันก็เสร็จ หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อน ภายใน 1 ปี ก็จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ที่แท้จริง

“หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อนแล้วคนอื่นๆยังติดคดี คิดว่าสังคมอาจจะไม่สงบ อาจเกิดคลื่นใต้น้ำ ไปยังรัฐบาลเศรษฐาได้” นายสมชาย กล่าว

ประเด็นต่อมาการที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน ควรพบและขอคำปรึกษาได้ เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ , นายชวน หลีกภัย , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ , นายอานันท์ ปันยารชุน แม้กระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ให้อยู่นอกตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ดีกว่า อีกทั้งมองว่าเร็วเกินไปที่นายเศรษฐา จะมาตอบว่า จะให้นายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะกระทบความเชื่อมั่น กระทบเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความศรัทธาต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

“เป็นไปได้ก็อย่าไปตั้งเลยครับ ขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการดีแล้ว” นายสมชาย กล่าว


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/Kp2oAG6-6Ek

คุณอาจสนใจ

Related News