เลือกตั้งและการเมือง
'วันนอร์' แจงสั่งปิดประชุม เป็นทางออกที่ดีที่สุดกับบ้านเมือง ไม่ได้กีดกันปิดสวิตช์ สว.
โดย passamon_a
6 ส.ค. 2566
224 views
'วันนอร์' แจงสั่งปิดประชุม เป็นทางออกที่ดีที่สุดกับบ้านเมือง ไม่ได้กีดกันปิดสวิตช์ สว. ตามที่ถูกกล่าวหา ชี้เป็นเพราะ สส.เสนอญัตติแทรก และหากปล่อยทบทวนมติ 19 ก.ค. จะไม่สง่างาม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึงกรณีสั่งปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 ส.ค.66 ยืนยันว่าได้ตัดสินใจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองแล้ว หลังจากมีปัญหาการเสนอญัตติ ของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อขอทบทวนมติรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีการตีความข้อบังคับ ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง
โดย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตนต้องการชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ เพราะมีการกล่าวหาจากบุคคลบางฝ่าย ว่าประธานรีบปิดการประชุมเพื่อไม่ให้มีการอภิปรายญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว. นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะตนเองตั้งใจจะให้มีการอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างเต็มที่ มีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุมเป็นวาระที่สอง และต้องการเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระที่หนึ่ง แทนวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าดำเนินการได้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา
แต่ยังไม่ทันได้เลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ทางนายรังสิมันต์ โรม กลับเสนอญัตติด่วน ขึ้นมาเพื่อทบทวนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ทั้งที่เป็นมติที่ได้ดำเนินการตามข้อบังคับที่ 151 แล้ว และตามข้อบังคับ ถือเป็นมติที่เด็ดขาด ดังนั้นการขอทบทวนมติที่มีผลเด็ดขาดไปแล้วจะกระทำไม่ได้
ประกอบกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งโดยปกติเมื่อเรื่องใดอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล รัฐสภาก็จะไม่พิจารณาเรื่องนั้นก่อน เพราะเป็นการใช้อำนาจของศาล ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ระบุไว้ชัดเจน ว่าคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร โดยเฉพาะรัฐสภาคณะรัฐมนตรีและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
"การที่เราจะตัดหน้าทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีความชัดเจนแล้วว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 16 ส.ค. ถ้าเราไปพิจารณาก่อน ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะมันเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา"
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า หากการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ที่ประชุมมีมติทบทวน และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามหลังมาไม่ตรงกับมติของรัฐสภา ลองคิดดูว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร รัฐสภาก็จะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ จึงควรรอให้ศาลมีความชัดเจนเรื่องนี้ แล้วค่อยนำเรื่องดังกล่าว มาพูดคุยทบทวนทีหลังได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่สามารถจะบอกได้ แต่ในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภา เป็นผู้นำขององค์กร เราไม่สามารถนำองค์กรไปทำให้มีปัญหากับองค์กรที่กำลังจะตัดสินเรา
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ตนเองต้องขออภัย ยืนยันว่าเมื่อวานนี้ไม่ได้รีบหรือปิดหนี เพื่อไม่ให้มีการอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ย้ำว่าตนตั้งใจรอเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อให้สมาชิกเข้าประชุมได้ครบองค์ประชุม และตั้งใจจะเลื่อนวาระ แก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่สมาชิกพรรคก้าวไกล อยากจะอภิปรายขึ้นมาเป็นวาระแรก แต่กลายเป็นว่าสมาชิกเองกลับไม่ยอมที่จะให้เลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา โดยการเสนอเรื่องด่วนที่ไม่ได้อยู่ในวาระขึ้นมาพิจารณาแทน ส่วนตัวยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องถามเหตุผลกลับว่าทำไมสมาชิกไม่ยอมเลื่อน วาระแก้ไขรัฐธรมนูญดังกล่าวขึ้นมา ทั้งที่ตนก็ถามหลายครั้งแล้ว
"การไม่ยอมให้เลื่อนวาระที่สองคือแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา ดูเหมือนว่า จะทำให้สภาเกิดความสับสนกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะวันที่ 16 ส.ค. ถ้าศาลวินิจฉัยจบ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อไปได้"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จำเป็นจะต้องพูดคุยกับ สส.พรรคก้าวไกล เพื่อให้ถอนญัตติด่วนดังกล่าวออกไปหรือไม่ เนื่องจากญัตติยังคงค้างอยู่ในการเสนอ
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เหตุผลที่ตนต้องปิดการประชุมไป ก็เพื่อต้องการให้ญัตติด่วนที่ นายรังสิมันต์ โรม เสนอยังคงค้างอยู่ในการพิจารณา เพราะเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อไหร่ ก็ยังสามารถมาพิจารณาต่อได้ แต่จะเป็นการพิจารณาหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว และจะได้ไม่เป็นการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการประชุมรัฐสภาครั้งหน้าจะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 16 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้ว ญัตติทั้ง 4 ญัตติ คือ การโหวตเลือกนายกฯ / การแก้ไขมาตรา 272 / การทบทวนมติรัฐสภา เมื่อ19 ก.ค. และญัตติไม่เห็นด้วยกับการทบทวนมติรัฐสภา 19 ก.ค. ก็ยังอยู่ และจะเดินหน้าต่อไปหลังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้ว
ส่วนการนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง ก็ต้องรอความชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญก่อน และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะกำหนดการประชุมภายใน 3 วัน ไม่ 18 ก็ 19 ส.ค. เพราะต้องให้เร็วที่สุดแต่ก็ต้องไม่ผิดข้อบังคับการประชุม และต้องกระทำได้อย่างสง่างาม เพราะถ้าทำการทบทวนและมีมติออกมาอย่างนั้นที่จะไม่สง่างาม เพราะกลายเป็นว่าสภาต้องมาทบทวนมติตัวเอง แล้วก็จะมีคนเสนอทบทวนซ้ำอีกว่าสิ่งที่กำลังทบทวนไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่สง่างาม ตนจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ของสภาเอาไว้
แท็กที่เกี่ยวข้อง วันนอร์ ,ประธานรัฐสภา ,วันนอร์ปิดประชุม