เลือกตั้งและการเมือง

‘กัณวีร์’ เชื่อ ยื่นปิดสวิตช์สว. ‘พิธา’ หวนคืนโหวตนายกฯ ‘สว.สมชาย’ ไม่เห็นด้วย ซัดอย่าเล่นเป็นเด็ก

โดย JitrarutP

5 ส.ค. 2566

246 views

“กัณวีร์” พรรคเป็นธรรม ยังหวัง 8 พรรคหวนคืนร่วมตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ชี้ ยกเลิก 272 ปิดสวิตช์สว. เป็นหนึ่งเลือก ดันชื่อพิธา กลับมาเป็นนายกฯ ได้ “สว.สมชาย” ซัด อย่าเล่นเป็นเด็ก ถ้าเสนอมาจะไม่เห็นด้วยเพราะจะหมดวาระอยู่แล้ว


นาย กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาในวันนี้ว่า จริงๆ แล้วจะมีการประชุม 2 วาระ แต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องถูกเลื่อนออกไป ก็จะเหลือเพียงวาระพิจารณามาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอญัตติเข้าไป ส่วนตัวคิดว่าประธานรัฐสภาน่าจะมีการเปิดให้อภิปราย ทั้งฝ่ายที่เสนอ และฝ่ายจะอภิปรายสนับสนุน และคัดค้าน

ส่วนตัวคิดว่าวันนี้การประชุมจะไม่ล่มแต่ต้องติดตามการลงมติในขั้นตอนสุดท้าย ว่าจะยกเลิกมาตรา 272 หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าควรจะยกเลิกตั้งนานแล้วนั้น เพราะเป็นกลไกที่ขัดขวางการเดินหน้า ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเป็นธรรมชัดเจนว่าจะสนับสนุนเวลานี้ที่พรรคก้าวไกลเสนอ พร้อมย้ำว่าพรรคเป็นธรรม เห็นว่าการยกเลิกมาตรา 272 มีความจำเป็น เพราะจะเห็นได้จากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่ยังมีอำนาจของสว.อยู่ ทำให้ไม่สามารถโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลได้

ส่วนการ เลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีเพื่อรอคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การเสนอแก้ไขหรือยกเลิก 272 ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้นายพิธาสามารถกลับมา ถูกเสนอชื่อได้อีก ซึ่งในการโหวตเลือกนายพิธาในวันนั้น เพราะยังติดข้อบังคับที่ 41 ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ แต่ครั้งนี้เรากำลังจะบอกว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ ซึ่งก็อาจจะทำให้มีโอกาส ที่ 8 พรรคร่วมจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนเดิม ดังนั้นการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 272 คือทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่ง

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์สว. ซึ่งหากเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 1 จะขอยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเงื่อนไขตามมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นจากการทำประชามติที่ตั้งคำถามพ่วงเข้ามา ว่า การแก้ไขจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูให้ดีทำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชัดเจนว่ารัฐสภามีหน้าที่ทำได้ ในเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้ไขก็ใช้มาตรา 256 อนุ 8 แต่ทำไมมาตรา 272 ถึงไม่อยู่ ในมาตรา 256 อนุ 8 เพราะมาตรา 272 ถูกแยกทำประชามติ

โดยการทำประชามติตอนนั้น คำถามแรกคือ รับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ มีผู้เห็นด้วยถึง 16 ล้านเสียง ส่วนคำถามที่ 2 แยกมาตรา 272 ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ที่ให้รัฐสภาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนลงประชามติเห็นชอบ 15 ล้าน 2 แสนเสียง เพราะฉะนั้นประเด็นข้อกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้ต่อเนื่องมาตลอด ว่าองค์มติที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือรัฐสภา เพราะฉะนั้นถ้าสภาฯ รับหลักการแก้ไขในวาระ 1 แล้วผ่านไปสู่วาระ 2 แล้วไปโหวตวาระ 3 ไม่ว่ากระบวนการจะอยู่ขั้นใด ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีประชามติรับรองไว้ ดังนั้นถ้าจะแก้มาตรา 272 โดยให้ยกเลิก ต้องกลับไปถามประชามติ เพราะข้อกฎหมายไปอย่างอื่นไม่ได้ ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสภากระทำเกินอำนาจหน้าที่ตัวเอง แต่ถ้าทำประชามติก็ต้องใช้เงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท

นอกจากนี้ ถ้าไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นค้างอีกว่า ตกลงสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าข้อบังคับที่ 41 ที่สภาลงมติ ตามข้อบังคับ 151 แล้ว ไม่ขัดหรือแย้ง ก็เดินหน้าในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะได้วันที่ 20 กว่าๆ ถ้าไม่มีเหตุสะดุด แต่ถ้าสภาฯรับหลักการไปในวันนี้ ตนต้องคัดค้าน ก็ต้องมีคำถามว่าตกลงสภาจะเอาอย่างไรจะใช้หรือไม่ใช้มาตรา 272 ก็ต้องไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ต้องขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเลือก ไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน ว่าเดินหน้าแก้มาตรา 272 ไปแล้ว เกิดวาระ 3 สภาเห็นชอบกันขึ้นมา แล้วบอกว่าให้กลับไปใช้หลักตามมาตรา 159 ที่สภาผู้แทนเลือก แล้วที่จะเลือกนายกฯ ในมาตรา 272 จะทำอย่างไร

ซึ่งตนทักท้วงด้วยข้อกฎหมายไม่ได้จะไปขัดแย้งในเรื่อง 272 แต่เห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย และเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะใช้มาตรา 272 ต่อไปแล้ว เพราะการโหวตนายกฯคนที่ 30 อันใกล้นี้ น่าจะได้ในระยะเวลาไม่นานนี้ และคงไม่มีการมาใช้เสียงสว. ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมในการโหวตนายกฯ คนถัดไปอีก เพราะเราไม่ได้เลือกนายกฯ รายเดือน อย่างน้อยคนนึงก็ต้องอยู่ 3-4 ปีตามวาระ

ดังนั้นวุฒิสภาชุดนี้ก็หมดวาระแล้ว อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาตามประชามติมาตรา 272 ก็หมดวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งบทเฉพาะการมีในรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่มาตรานี้พิเศษเพราะมีการถามประชามติที่ชัดเจน


https://youtu.be/ZYMrLLUkWNE


คุณอาจสนใจ

Related News