เลือกตั้งและการเมือง

เลขาธิการ กกต. แจงปมดรามาบัตรเลือกตั้ง - เพื่อไทย โวย กกต.ออกแบบได้สับสน จี้ให้ปรับปรุง ลั่นถ้าทำไม่เป็นเดี๋ยวทำให้

โดย weerawit_c

1 เม.ย. 2566

71 views

วานนี้ (31 มี.ค.) นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่บัตรเลือกตั้งที่แบบเขตไม่มีโลโก้พรรคการเมือง ไม่มีชื่อ มีเพียงเบอร์ของผู้สมัครเท่านั้น ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ มีโลโก้และชื่อพรรคว่า เป็นสิ่งที่ตนย้ำมาเสมอตั้งแต่เรื่องการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่น อีกทั้งยังมีอีกหลายเรื่องที่ กตต. ทำออกมาแล้วเหมือนเป็นการสร้างปัญหาให้กับผู้สมัคร และประชาชน



“ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งนั้น ตนไม่ทราบว่า กกต. คิดอย่างไร ที่ทำเรื่องพวกนี้ออกมา เพราะจะสร้างปัญหามากมาย หากท่านเป็นผู้ใช้สิทธิท่านจะทำยังไง ฉะนั้นควรต้องปรับปรุงแก้ไข เพราะยังมีเวลา ทำอาร์ตเวิร์คก็ไม่ถึงชั่วโมง ถ้าทำไม่เป็นเดี๋ยวไปทำให้ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก กกต. ควรต้องทำให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด”



ถามต่อถึงกฎระเบียบที่ออกในวันรับสมัคร ส.ส. ที่หลายฝ่ายยังคงสับสนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ นางพวงเพ็ชร ขอให้ กกต. ดูงานจากอดีตที่ผ่านมาว่าเขาทำกันอย่างไร ซึ่งตนก็ไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงอยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย และ กกต. ต้องมีคำตอบกับสังคมว่าออกกฎเกณฑ์มาแบบนี้มีวัตถุประสงค์อะไร หรือทำเพื่อประโยชน์ของใคร ก่อนหวังว่าสุดท้าย กกต. จะพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง



ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "อย่าขับเคลื่อนด้วยเสียงก่นด่า



การเลือกตั้ง 17 พฤษภาคม 2566 นอกจากคำนวนจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดผิดเพราะเอาคนต่างชาติมาร่วมคิด  ไม่ยอมรายงานแบบเรียลไทม์เพราะอ้าง 10 ล้านแพงไป  เลิกเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ในบางประเทศเพราะสถานทูตเขาไม่พร้อม  



มาวันนี้ ยังมีเรื่องใหม่  ใช้บัตรโหลกับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ถึงวันเลือกตั้ง ชาวบ้านได้รับบัตรเข้าไปกา ยายมี ยายมา ที่อ่านตัวเลขไม่ได้ คราวนี้ไม่มีรูปภาพโลโก้พรรคให้จำ คงได้เดือดร้อน

คนธรรมดา ก็ใช่ว่าจะไม่สับสน เพราะเบอร์พรรคเดียวกันที่เขตติดกันก็คนละเบอร์ ยิ่งแบ่งเขตกันใหม่ละลายเขตเดิม จะเลือกผู้สมัครที่คุ้นเคย เขาก็ไปลงเขตใกล้ ๆ กลายเป็นอีกเบอร์  เวลาเข้าคูหา บัตรไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้ ก็อาจทำให้สับสนได้ว่า พรรคนี้เบอร์ไหนกันแน่



อ้างว่า ต้องทำ 400 แบบ ทำยาก จัดการยาก ทำไม่ทัน โถ หนู  ตอนเลือกตั้งปี 62  หนูก็โดนด่าไปรอบตอนจะทำบัตรโหล จนต้องยอมเปลี่ยนเป็นบัตรที่มีทั้งชื่อพรรค และโลโก้พรรค เป็นบัตรแบบเฉพาะเขต 350 เขต 350 แบบมาแล้ว



อ้างว่า เวลาเร่งรัด ต้องจัดพิมพ์แล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ทันแล้ว โถ หนู  ปี 62 หนูก็พิมพ์หลังได้เบอร์  ปี 66 นี้ กว่าผู้สมัครเขตจะได้เบอร์ วันสุดท้ายก็ 7 เมษายน  นี่เพิ่ง 1 เมษายน  หนูหลงวันหลงเดือนหรือเปล่า สัปดาห์หน้า พวกหนูยุ่ง เพราะต้องรับสมัคร  ไม่มีเวลาประชุมเปลี่ยนแล้ว



โถ หนู  วันจันทร์รับสมัครเขต เป็นเรื่องของ กกต.จังหวัด  หนูประชุมได้  ไม่ต้องหาเรื่องไปตรวจงานหาเสียงแบบลุงบางคนหรอก  ประชุมเหอะ ประชุม  เงินเดือนเป็นแสน เบี้ยประชุมก็ได้นะ

วันนี้ ขอยังไม่ก่นด่า ให้โอกาสหนูทำความดีก่อน  หวังว่าพวกหนู ๆ คงไม่เป็นพวกต้องให้ด่า ถึงจะเปลี่ยนนะ"



ทั้งนี้ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้ง ว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละหมายเลข(เบอร์ ) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นโดยรูปแบบบัตรเลือกตั้ง นับแต่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบบัตรที่ใช้เลือกตั้ง อยู่ 3 ประเภท คือ บัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ บัตรที่มีเฉพาะหมายเลข(เบอร์)ผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบัตรโหล จะไม่มีรายชื่อผู้สมัครแต่อย่างใด ทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในประเทศไทยใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีราบชื่อ หลังปี 2540 ก็ตาม คือ ไม่เคยมีชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแต่อย่างใด



ส่วนรูปแบบบัตรมาตราฐานแบบบัญชีรายชื่อ คือ บัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร(เบอร์) มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ทุกการเลือกตั้งก็จะใช้บัตรเลือกตั้งนี้มาตลอด



ขณะที่บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ เกิดขึ้นใน ปี 2562 เพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบคะแนนไม่ตกน้ำตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ทุกคะแนนมีความหมาย บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้ จึงผสมกันระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ใว้ด้วยกันในใบเดียว และมี 350 แบบ ตามจำนวนเขตเลือกตั้ง ในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูล หมายเลขผู้สมัคร(เบอร์)ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีชื่อของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในบัตรแต่อย่างใด



ส่วนบัตรเลือกตั้งปี 2566 แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ จะใช้บัตรมาตรฐาน เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เว้น ปี 2562 ที่ใช้บัตรเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อดีของบัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีความชัดเจนแตกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ นอกจากสีจะต่างกันแล้ว องค์ประกอบภายในบัตรก็จะต่างกัน ทำให้ประชาชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่สับสน เพราะบัตรประเภทหนึ่งมีเพียงหมายเลข ไม่มีตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ใด ต่างจากบัตรอีกประเภทหนึ่งมีครบทั้ง 3 อย่าง เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสนลักษณ์นี้อีกทางหนึ่งด้วยและยังประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะบัตรมาตราฐานพิมพ์ พร้อมกันในครั้งเดียว แต่บัตรแบบเฉพาะเขต ต้องสั่งพิมพ์ 400 ครั้ง ตามจำนวนเขต เมื่อปริมาณพิมพ์ต่อครั้งมีจำนวนน้อย จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ต่อครั้งใช้เงินจำนวนมากขึ้น และสะดวกในการบริหารจัดการ นำเวลาที่ต้องมาทำงานธุรการ อาทิ การส่งให้ตรงกับเขต กรณีเป็นแบบเฉพาะ ถ้าส่งผิดเขตจะใช้แทนกันไม่ได้ การพิมพ์บัตรสำรองในแต่ละเขต ก็ต้องมีสำรองครบตามจำนวนเขต เพราะใช้แทนกันไม่ได้ ทำให้สามารถนำเวลาที่เหลือจากงานธุรการไปทำงานอื่นให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากกว่า



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/95el1MR0R7s

คุณอาจสนใจ

Related News