เลือกตั้งและการเมือง

'ประยุทธ์' โต้ปมเหมืองทอง อ้างใช้กฎหมายอย่างชอบธรรม - 'ยุทธพงศ์' อัดจัดฉากสร้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดย weerawit_c

19 ก.พ. 2565

57 views

จากการณีนางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ประเดิมอภิปรายทั่วไปเป็นคนแรก ในวันที่ 2 ที่รัฐสภา เปิดเผยว่าประเด็นเหมืองแร่ทองคำอัครา แม้จะเป็นประเด็นเก่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยถูกซักฟอกมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยตอบคำถามเเบบตรงไปตรงมาแม้แต่ครั้งเดียว



ส่วนตัวมีข้อสงสัยที่อยากซักถามว่าเดิมกำหนดการออกคำชี้ขาด วันที่ 31 มกราคม 2565 แต่ถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด ซึ่งสถิติที่ผ่านมานัดอ่านคำชี้ขาด 2 ปี มีการเลื่อนไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ตั้งข้อสงสัยว่าทุกครั้งที่มีการเลื่อน รัฐบาลจะทยอยคืนสิทธิ์การทำเหมืองหลายครั้ง รวมแล้ว 400,000 ไร่ 4 แปลง ที่สำคัญพื้นที่อีกราว 600,00 ไร่ ที่บริษัทคิงส์เกตทำเรื่องขอสำรวจแร่ค้างไว้ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทองคำชื่อแหล่งสุวรรณและแหล่งโชคดี



ซึ่งตรวจสอบมาแล้วว่า 31,250ไร่ อยู่ห่างจากแหล่งทองคำชาตรี 10-30 กิโลเมตร คาดว่า อยู่ในเขตอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย นอกจากนี้ยังมีการต่ออายุสัมปทานในการทำเหมืองแร่ทองคำ ตั้งคำถามว่ากรณีแบบนี้ถือเป็นการประนีประนอม นำเอาสมบัติชาติไปจ่ายค่าโง่หรือไม่



ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นเหมืองทองอัคราฯ ว่ารัฐบาลในทุกยุคสมัยจะมีหน้าที่ในการพิจารณานำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม สถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535-2544 รัฐบาลในช่วงนั้นก็ได้เห็นชอบตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2510 เชิญชวนให้มีการลงทุนด้วยการลดค่าภาคหลวงแร่ ออกใบสำรวจ ออกใบอนุญาตประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม สนับสนุนให้มีการทำเหมืองทองใน จ.พิจิตร



ซึ่งนายกฯในขณะนั้น ได้เดินทางไปเปิดเหมืองผลิตทองคำเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2554 รัฐบาลต่อมาได้ระงับต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ด้วยเหตุความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาการฟ้องร้อง ขั้นตอนการออกใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพ และสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง



นายกฯกล่าวต่อว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าช่วงรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมือง ในขณะนั้นถือว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐบาลก็ได้พิจารณาการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. ที่ต้องทบทวนข้อกฎหมาย และกรอบนโนบายการทำเหมือง เพื่อจะลดปัญหาที่หมักหมมมานาน รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น ภายหลังการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ มีบริษัทเอกชนที่มีความสนใจจะทำเหมืองต่างๆ ได้เข้ามาขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย



ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามปกติ หากบริษัทเอกชนใดๆ มีขีดจำกัด และขีดความสามารถทำตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และเข้ามาขออนุญาตตามขั้นตอน ก็มีสิทธิได้รับใบอนุญาต บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ “คิงส์เกต” ก็เป็นบริษัทหนึ่ง ที่ถึงแม้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่มีต่อบริษัทของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาต



ดังนั้น การที่มี พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 ขึ้นมาใหม่นั้น ทางบริษัทอัคราฯได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอต่ออายุทั้ง 4 แปลง ที่ยังคงค้างอยู่ ตามกรอบเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งบริษัทอัคราฯก็ทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทเอกชนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการได้รับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงนั้น โดยไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น



ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวมูลค่า 4 แสนล้าน ที่จะต่อขยายสัมปทาน 40 ปี จะพารัฐบาลพัง พารัฐมนตรีติดคุกทั้งครม. เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า 37 ปี ถึงปี2602 โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เป็นใบเบิกทางทำความผิด ยกเว้นกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว



ขณะที่กระทรวงคมนาคมบอกว่าถ้ายังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยจะคัดค้านเหมือนเดิม พระรามอย่างพลเอกประยุทธ์ จงใจทำผิดกฎหมาย จงใจทำผิดสัญญาสร้างหนี้ 3.7 หมื่นล้าน โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ด้วยการจ้างบีทีเอสวิ่งรถจนเกินหนี้ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน แล้วปล่อยให้ประชาชนนั่งฟรีโดยไม่เก็บค่าโดยสารตั้งแต่ปี 2561 เป็นหนี้ก้อนที่ 2 จำนวน 1.7 หมื่นล้าน วันนี้ที่หาเหตุยกสัญญาสัมปทาน โดยอ้างหนี้นั้น



ตนขอบอกว่าเป็นการจัดฉากสร้างหนี้ ปล่อยให้เกิดหนี้ 3.7 หมื่นล้านแล้วเปิดทางให้บีทีเอส เสนอขอแลกหนี้กับการขยายสัมปทานล่วงหน้าไป 37 ปี ตนมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยรอถึงปี 2572 รัฐบาลเอาสัมปทานกลับมาเป็นของรัฐ เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลงเพราะรัฐเป็นเจ้าของไม่ต้องหากำไร แล้วให้ รฟม.ดำเนินการเจ้าเดียวไปได้ทุกสายไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า ส่วนหนี้ 3.7 หมื่นล้าน



ถ้าพลเอกประยุทธ์ กล้าทำผิดกฎหมายต่อสัมปทานให้บีทีเอส ตนขอประกาศว่า 22 พ.ค.65 เปิดสภาฯ พบกับการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 แล้วพลเอกประยุทธ์ จะรู้ว่านรกมีจริง พระรามอย่างพลเอกประยุทธ์ แน่จริงอย่ายุบสภาฯหนี



นายยุทธพงศ์ ย้ำว่าวันนี้พลเอกประยุทธ์ กำลังจะพารัฐมนตรีติดคุกทั้งครม. เหตุใดต้องทิ้งทวนไม่รอผู้ว่าฯกทม.คนใหม่มาตัดสินใจอนาคตของคนกรุงเทพฯ



ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงหลังนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวจบ ระบุว่าพยายามฟังมาตลอดอะไรที่เป็นคำแนะนำก็พร้อมรับฟัง แต่กิริยาที่ส.ส.แสดงออกมานั้นไม่น่าฟังไม่น่าดู ขอให้รักษามารยาท รู้จักให้เกียรติคนอื่นเขา ส.ส. ถูกเรียกว่าเป็นผู้ทรงเกียรติแต่ถ้าทำตัวเหมือนนักเลงข้างถนน



แต่อย่างไรก็ตามขอขอบคุณคำแนะนำต่างๆโดยเฉพาะข้อห่วงใยในเรื่องการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว และข้อปฏิบัติต่างๆเพราะทั้งหมดในเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการที่จะนำผลการพิจารณาทั้งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่นำมาเสนอคณะรัฐมนตรี จะมีการพิจารณาอย่างรอบครอบเพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยคำนึงถึงภาระทางการเงินของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบต่อไปด้วย ไม่ได้มุ่งจะไปเอื้อประโยชน์กับใครหรือต้องการจะทิ้งทวนอย่างที่ถูกกล่าวหา ขอให้เกียรติกันบ้าง เพราะตนไม่เคยไปก้าวล่วงอะไรใคร เพราะสำเนียงสอบภาษากิริยาส่อสกุล



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/NaN2AIr3bcA

คุณอาจสนใจ

Related News