เลือกตั้งและการเมือง

‘แสวง’ ไม่หวั่นทัวร์ลง แจงยิบรูปแบบวิธีสมัคร สว.ไม่สับสน

โดย attayuth_b

2 พ.ค. 2567

36 views

เลขาฯกกต. เผย ไม่ได้ห้ามสื่อมวลชน แต่ระเบียบเรื่องการแนะนำตัวเองของผู้สมัคร บังคับใช้เฉพาะกับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.เท่านั้น


นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันนี้เข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมประชุมอนุกรรมการรับฟังความเห็นเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงถูกผู้สื่อข่าวดักสัมภาษณ์เรื่องการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ซึ่งช่วงหนึ่ง เลขาฯกกต. ออกตัวด้วยน้ำเสียง ทีเล่นทีจริง บอกว่า อยากรู้เรื่องอะไร ก่อนหน้านี้โพสต์อธิบายไปหมดแล้ว "โพสต์จนรถทัวร์ลง แต่ลานจอดยังเยอะอยู่นะ"

พร้อมกันนี้ ยังอธิบายต่อบอกว่า เท่าที่มอนิเตอร์ดูตอนนี้ยังไม่พบการกระทำความผิด และ ย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้ บังคับกับผู้สมัคร ไม่ได้บังคับกับสื่อมวลชน

สำหรับ รูปแบบการเลือกสว. ที่ให้เลือกกันเอง ประชาชนเลือกด้วยไม่ได้ นายแสวง บอกว่า เป็นแนวทางที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้ ยืนยันว่า กกต.ไม่สามารถปรับแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ส่วนเรื่องการแนะนำตัวเองของผู้สมัคร สว. นายแสวง ยอมรับว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ในการออกกติกา แต่กกต.ก็ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ กฎหมาย บอกว่า "ให้ผู้สมัครแนะนำตัวกับผู้มีสิทธิเลือก"

นายแสวง ย้ำว่า กกต. ตระหนักถึงความสำคัญประชาชน เพราะ ท้ายที่สุด สว.ก็จะเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน ยืนยันว่า ประชาชนยังมีสิทธิในการติดตาม ตรวจสอบ และ สังเกตการณ์การเลือกสว.อยู่

ส่วนการห้ามเปิดเผยชื่อผู้สมัคร สว. นายแสวง บอกว่า ที่กำหนดแบบนี้ เพื่อให้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่ากัน แต่หลังสมัครเสร็จ กกต.จะรวบรวมข้อมูลทั้งชื่อผู้สมัคร ประวัติ และ ประสบการณ์ ของทุกๆคน นำไปลงไว้ในแอปพลิเคชั่น smart vote และ เว็บไซต์ของกกต. ส่วนผู้สมัครด้วยกัน จะมี การให้อีเมล์ ของผู้สมัครด้วยกันเองไว้ เพื่อให้สามารถติดต่อไปแนะนำตัวกันได้

ส่วนกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเชิญชวนให้มีผู้สมัคร สว. นั้น นายแสวง กล่าวว่า ได้ตอบไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ นาย ก. นาย ข. จะทำแบบนี้ ก็ทำได้

ส่วนเมื่อถามถึงข้อปฎิบัติตัวของสื่อมวลชนหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ออกมา จะทำอะไรได้บ้าง นายแสวง ย้ำว่า ระเบียบการแนะนำตัวใช้บังคับกับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับกับสื่อ ดังนั้น สื่อมวลชน สามารถรายงานข่าว วิเคราะห์ข่าว ให้ความเห็น รวมถึงจัดเวที ได้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องระวังเรื่องกฎหมายอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น ระวังเรื่องการหมิ่นประมาทผู้สมัคร เป็นต้น แต่หากเป็นข้อเท็จจริง นายแสวง ระบุว่า สื่อมวลชนสามารถนำเสนอได้ทั้งหมด

ส่วนผู้สมัครจะไปร่วมขึ้นเวที หรือรวมพูดคุยกับสื่อมวลชนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะ ตัวผู้สมัครเองก็จะต้องระวังตัวไม่ให้กระทำผิดข้อบังคับ

ส่วนเมื่อถามเรื่องการป้องกันการทุจริตการเลือก สว. นายแสวง ย้ำว่า ตามกฎหมายมีการป้องกันการฮั้วกันของผู้สมัครอยู่แล้ว แต่ที่จะต้องระวังและหาแนวทางป้องกันเพิ่มเติม คือ การจัดตั้งให้ไปสมัครเพื่อไปเลือก ไม่ใช่สมัครเพื่อไปเป็นสว. เรื่องนี้ กกต.ยืนยันว่า ไม่นิ่งนอนใจ เพราะ ทราบดีว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ นายแสวง ยังพูดถึง การเลือกสว. ว่า แม้จะมีผู้สมัครเป็นแสนคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกสว.จะต้องดูข้อมูลของทั้ง 1 แสนคน เพราะ การเลือกจะเลือกเป็นกลุ่มสาขาอาชีพ และ เลือกรายอำเภอ รายจังหวัด ดังนั้น ต่อให้มี ผู้สมัคร 4 แสนคน ผู้มีสิทธิเลือกสว. ก็จะดูข้อมูล แค่ 20 คน ถือว่าไม่ได้เยอะ

สำหรับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก เช่น

ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครตามข้อ 7 และ เผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น และ ข้อ 11 ที่กำหนดว่า นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ เช่น (5) แนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เลขา กกต. พยายามอธิบายว่า ผู้สมัคร สว.ยังสามารถไปแนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น ทางไลน์


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/RAnQOqIsWvo





แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ