เลือกตั้งและการเมือง
ผู้ชุมนุมเดือด หลังศาลรธน.สั่ง 'พิธา' หยุดหน้าที่สส.หวิดปะทะจนท.
โดย panwilai_c
19 ก.ค. 2566
293 views
ทันทีที่ทราบมติศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคุณสมบัติคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีถือหุ้นสื่อ ITV และให้ยุติการทำหน้าที่สส.ตั้งแต่วันนี้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ในศูนย์ราชการกทม.เกียกกาย ไม่พอใจ ต่างเดินออกจากศูนย์ราชการฯมุ่งหน้าไปชุมนุมหน้าประตูรัฐสภา ด้วยอารมณ์และความรู้สึกเดือด ก่อนหวิดปะทะเจ้าหน้าที่ จุดพลุควันและโปรยใบปลิวให้สว.ลาออก
นี่เป็นเหตุการณ์ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา 50 นาที เริ่มแรกของการชุมนุมที่เริ่มเดือดรุนแรง ซึ่งผู้ชุมนุมต่างกรูออกจากศูนย์ราชการกทม. มาปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภา เหตุไม่พอใจ มติของศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้นายพิธา หยุดปฎิบัติหน้าที่ สส. เป็นการชั่วคราว
บรรยากาศช่วงนั้น หลายคนร้องไห้เพราะผิดหวัง เนื่องจากคาดหวังว่า คนที่เลือกมาคือนายพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี บางส่วน ถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บางส่วนตะโกนด่าทอ สว. พร้อมตั้งคำถามทำไมไม่ฟังเสียงประชาชน และถามว่าเสียงประชาชน 14 ล้านเสียงไม่มีความหมายหรือ
ประชาชนบางส่วน ก็ตะโกนส่งเสียงให้กำลังนายพิธาจากหน้าประตูรัฐสภา ว่า "นายกพิธา นายกพิธา นายกพิธา"
จังหวะนั้น เวลา 12.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาปิดทุกประตูทางเข้า-ออก ของอาคารรัฐสภา
ตำรวจที่ประจำอยู่ภายในอาคารรัฐสภา ได้ขยับกำลัง โดยวางกำลัง 3 ชั้น คือตำรวจสภา ตำรวจนครบาล และตำรวจควบคุมฝูงชน จากนั้นได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง อ่านข้อกฎหมายแจ้งเตือนประชาชน ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ ในรัศมี 50 เมตรโดยรอบรัฐสภา เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจ ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม
ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเขย่าประตูเหล็ก ก่อนที่ลูกกรงประตูส่วนหนึ่งจะหลุดออกบางส่วน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอความร่วมมือผู้ชุมนุมให้หยุด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเอง ก็ได้ร้องขอให้ผู้ชุมนุมด้วยกันกลับไปที่บริเวณศูนย์ราชการฯ
ต่อมา เวลา 13.00 น. กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และกลุ่มทะลุแก๊ซ ได้มาตามนัดหมาย มาสมทบเพิ่ม ซึ่งมาพร้อมกับใบลาออก ถึงสมาชิกวุฒิสภาจากประชาชน ให้ ส.ว.ที่ออกเสียง สวนฉันทามติหรืองดออกเสียง ลาออกจาก ส.ว.
ก่อนที่จะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการโปรยใบลาออก และตะโกนว่า "ถ้าไม่ทำงานก็ลาออกไป เปลืองเงินภาษีประชาชน
จากนั้น มีตะวัน และแบม (หรือน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ) มาถึง ได้ปาประทัดชนิดกระเทียม รวมทั้งมีการจุดพลุแฟร์หลากสี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในอาการรัฐสภา ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงซ้ำอีกครั้ง พื้นที่หน้าประตูรัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ชุมนุม จึงขอให้ทางผู้ชุมนุมกลับไปชุมนุมยังสถานที่ ที่จัดไว้ที่ศูนย์ราชการเกียกกาย ซึ่งหากผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง อาจเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ แต่ประชาชนยังไม่คงปักหลักอยู่เช่นเดิม
ช่วงหนึ่ง พบว่า นางอมรัตน์ โชคปมิตกุล คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ได้ขับรถยนต์ส่วนตัว มาจอดที่บริเวณด้านหน้าประตูรั้วรัฐสภา เนื่องจากว่า มีประชุม พร้อมลดกระจกรถทักทายมวลชน ซึ่งมวลชนได้บอกกับนางอมรัตน์ "ฝากด้วยนะคะพี่เจี๊ยบ เราไม่ยอมนะ เราจะสู้ไปด้วยกัน" ซึ่งนางอมรัตน์ ได้ส่งยิ้มกลับ และขอบคุณมวลชน
หลังจากนั้น นางอมรัตน์ ได้ลงจากรถ และได้วีดิโอคอลหานายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ว่า มาถึงแล้ว และ ให้ช่วยประสานเจ้าหน้าที่สภาเปิดประตูให้ เพื่อจะเข้าไปร่วมประชุม แต่ไม่นาน ส.ส.พรรคก้าวไกล เอาบัตรเข้าพื้นที่สภาฯ มาให้นางอมรัตน์ ก่อนที่จะถอยรถแล้วไปเข้าอีกประตูเพื่อร่วมประชุม
ขณะที่ นายปดิพัทธ์ ได้ออกมาเจรจากับประชาชนที่ชุมนุมหน้าประตูรัฐสภา ให้กลับไปรวมตัวที่ศูนย์ราชการเกียกกายเช่นเดิม เนื่องจาก การประชุมร่วมของรัฐสภายังไม่แล้วเสร็จ
กระทั่งถึงช่วงบ่าย 14.00 น.ยังคงมีการตรึงกำลังเข้มของตำรวจควบคุมฝูงชน บริเวณโดยรอบ แต่ผู้ชุมนุมเริ่มบางตา
เวลา 14.15 น.มวลชน 4-5 คน ปีนขึ้นไปบนตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจนำมาวางเรียงไว้ระหว่างประตู 2 กับประตู 4 ของอาคารรัฐสภา และเดินไปเดินมา และนั่งอยู่บริเวณหลังตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชน ตั้งแถวสังเกตการณ์อยู่ตลอดแนวรั้วของอาคารรัฐสภา
ต่อมา เวลา 15.15 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกจากหน้าสภา เพื่อไปรวมชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงเหลือเพียงตำรวจกับสื่อมวลชนที่ปักหลักรอทำข่าว