เลือกตั้งและการเมือง

‘ปิยบุตร’ ถาม เขาให้มาดูว่าใครจะเป็นนายกฯ ดันถกแต่ ม.112

โดย attayuth_b

14 ก.ค. 2566

142 views

เที่ยงที่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดไลฟ์อภิปรายนอกสภา ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดยใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงเต็ม ผ่านเฟซบุ๊ก

นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนฟังแล้วเจ็บใจตนเอง ถ้าอยู่ในสภาจะขออภิปรายโต้แย้ง พร้อมกล่าวว่า ชื่อวาระการประชุมก็บอกแล้วว่าเป็นการเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่การประชุมเมื่อวานกลับกลายเป็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเขียนเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เอาไว้ มองว่าเป็นเรื่องน่าแปลก

โดยนายพิธา และพรรคก้าวไกลได้ประกาศชัดเจน ว่า เรื่อง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใน MOU ไม่ได้ระบุไว้ พูดง่ายๆ รัฐบาลชุดหน้าถ้า 8 พรรคเขาจัดตั้งได้สำเร็จ เขาจะไม่มีนโยบายผลักดันให้มีการแก้ไข 112 แน่นอน MOU ก็ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้

นายปิยบุตร บอกว่า ไม่ต้องกังวลว่าจะเสนอร่างแก้มาตรา112 แต่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ ตอนนี้จึงนำเป็นหนึ่งในนโยบาย ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะปล่อยให้เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล 151 คน ที่จะเสนอร่างดังกล่าวเข้าสภา ซึ่งท้ายที่สุดจะผ่านหรือไม่ผ่านไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลก้าวไกล หรือนาย พิธา รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค แต่อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

เมื่อวานอะไรกันนักกันหนา เขาให้มาดูว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่ปรากฏว่าลากไปเรื่อง 112 สถาบัน ลากไปเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ตกลงแล้วใครกันแน่ที่เอาเรื่องสถาบันมาพูดคุย

พร้อมระบุต่อว่า ถ้ามองในแง่บวกก็ถือว่าเป็นเรื่องดี การที่สมาชิกรัฐสภาหลายคน เช่น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย , นายสมชาย แสวงการ ส.ว. , นายชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ , นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. , นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. เป็นต้น ที่พวกเขาเหล่านี้ยืนยันโดยชัดเจนว่าเรื่องสถาบัน อภิปรายในรัฐสภาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มองเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้มีโอกาสรับฟังเรื่องเหล่านี้ในรัฐสภา

พร้อมแนะนำว่าหากไม่พอใจ ในการเสนอกฎหมายก็โหวตให้ตกไป ตามกระบวนการนิติบัญญัติ ตนไม่เห็นว่า เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรีแม้แต่น้อย

เมื่อวานนี้พูดชัดเจนว่าให้ตาย ส.ส.รัฐบาลก็ไม่ทำ แต่ส.ส.พรรคก้าวไกล โดย ส.ส.151 คน เขาจะไปทำของเขาเอง เมื่อวานนี้ท่านทำให้มันผิดเพี้ยนไป จากที่โหวตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นอภิปรายมาตรา 112

นายปิยบุตร บอกอีกว่าเจ็บใจและเสียดาย หากอยู่ในรัฐสภาเมื่อวานนี้จะขออนุญาตอภิปรายโต้แย้งไปแล้ว แต่เมื่อไม่มีโอกาสพูดในสภาก็ขอใช้ช่องทางการสื่อสารนอกสภาให้กับสังคมและสมาชิกรัฐสภา

ตนกังวลใจ เพราะวันนี้ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อวานเกิดความกังวลใจ เนื่องจากสมาชิกรัฐหลายคน เอาวิธีคิดแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเป็นการเอาแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอธิบายเรื่องพระราชอำนาจของสถาบัน

โดยสิ่งที่ตนเสนอมี 3 ประเด็นใหญ่ๆ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 , รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 , และการลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ นำโดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย , นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. , นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. เป็น 4 บุคคลหลักที่อภิปรายบ่อยๆ แบบใหม่กลับตาลปัตร

นายปิยบุตร อ้างว่า นายคำนูณ พยายามอธิบายรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่เขียนว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ไม่มีข้อความในลักษณะนี้ แต่มีการเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เพราะต้นตำรับมาจาก "พระยามานวราชเสวี" เอาข้อความมาใส่จากตัวแบบรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น สมัยเมจิ (ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว) เอามาใช้ โดยประเทศที่ยังมีบทบัญญัติแบบนี้คือ นอร์เวย์เดนมาร์ก และไทย

นายปิยบุตร ระบุว่า คนร่างรัฐธรรมนูญในอดีต และเป็นรอยัลลิสต์ เคยอธิบายไว้ เช่น ศ.หยุด แสงอุทัย , กรมหมื่นนราทิพย์ หรือ ท่านวัน อธิบายในแนวทางเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงกับนายสมชายและนายคำนูนแน่นอน

ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า การที่มาตรานี้กำหนดให้ พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมเป็นการกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง จะต้องทรงเป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ จึงมีหลักว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ สรุปได้ว่าคำว่าเคารพสักการะเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติ ซึ่งเคารพสักการะเป็นผล แต่ต้องมีเหตุ คือเราต้องออกแบบรัฐธรรมนูญ ระบบกฎหมายต่างๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง จะไม่ตกอยู่ในการวิจารณ์ของฝักฝ่ายทางการเมือง ไม่ได้หมายถึง แตะต้องไม่ได้ หรือต้องมีกฎหมาย หรือลงโทษ เป็นคนละเรื่องกัน

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ทุกประเทศที่มีระบบสถาบันก็เขียนว่าผู้ใดละเมิดมิได้ หมายถึงฟ้องร้องไม่ได้ในทางใดๆไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจในการบริหารแผ่นดิน ทางการเมืองโดยแท้ แต่คนใช้อำนาจคือคนรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น คนเหล่านี้ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง พระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยว

นายปิยบุตร สรุปว่า ท้ายที่สุดมันคือผลของการที่เราต้องการให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ไม่ถูกฟ้อง และอยู่เหนือการเมือง ระบบกฎหมายที่เหลือต้องออกแบบไม่ให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจทางการเมืองโดยแท้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นายปิยุบตร กล่าวว่า ตนติดตามผลงานนายคำนูณมาโดยตลอด เพราะมองว่าเป็นคนหัวไว อ่านขาด เฉียบแหลม แต่ส่วนกรณีที่นายคำนูน เอารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เชื่อมโยง 112 บอกว่าพรรคก้าวไกลทำลายมาตรา 6 ทางประตูหลัง ตนขอถามคำนูณตรงๆ ว่าวันนี้ประเทศไทยปกครองในระบอบอะไร สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่าเอาวิธีคิด สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปะปนกับ ประชาธิปไตย หากวันนี้ประเทศไทยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นายคำนูณพูดถูกต้อง แต่ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น อธิบายว่าพระมหากษัตริย์กับรัฐเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้ พร้อมเรียกร้องนายคำนูณต้องอธิบายให้ถูกต้อง ตนเป็นแฟนคลับนายคำนูณ ตั้งแต่มัธยมศึกษาปลาย อธิบายให้ถูกต้อง เคารพและซื่อสัตย์กับหลักการที่เรียนและเขียนหนังสือมา

นายปิยบุตร ย้ำว่า ความผิดฐานดูหมิ่นฯ ไม่ต้องอยู่หมวดความมั่นคงแห่งรัฐก็ได้ เขาไม่ได้ทำลายความมั่นคงของรัฐ มีความผิดก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐ ตนถามตรงไปตรงมาว่าวันนี้มีคนถูกดำเนินคดีมากมาย สถาบันยังคงอยู่ ดังนั้นเป็นคนละเรื่องกัน หากพรรคก้าวไกลเสนอจะย้ายหมวดออกมาก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าไม่เห็นด้วยก็โหวตคว่ำ แต่จะมาลาก มาโยง เพื่ออธิบายให้คลุมเครือ ซ่อนระหว่างบรรทัด เชื่อมโยงพรรคก้าวไกลว่าเป็นพวกล้มล้างการปกครอง อันนี้ไม่ถูกต้อง ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีแรงต้านทานสูงพอสมควรแล้ว รู้ดีจะโดนข้อหานี้มาโดยตลอด แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตนกังวลคือวิธีคิดเชื่อมโยงของสมาชิกรัฐสภามองว่า ไม่เป็นคุณต่อสถาบันแน่นอน ตั้งคำถามว่าเอามาอธิบายตอนเลือกนายกฯ ทำไม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง แต่อภิปราย และพยายามชี้นำไปหมดว่าพรรคก้าวไกลคิดอะไรกับสถาบัน การเอาเรื่องนี้มาอภิปรายในการโหวตนายกฯส่งผลอะไร หากจะไม่ชอบพิธา เรื่องอะไรก็ว่าไป

นายปิยบุตร ยกตัวอย่าง ตนเคยโพสต์เตือนพรรคไทยภักดีไปรอบหนึ่งแล้วว่าทำแบบนี้ไม่ดีที่ออกมาพูดเรื่องปกป้องสถาบัน การที่ชี้หน้าพรรคอื่นล้มล้างเป็นประโยชน์ตรงไหน

แล้วลงเลือกตั้งเป็นอย่างไร ผมเคยบอกแล้วว่า คุณตั้งพรรคการเมืองมาแล้วคุณไปพูดว่าคุณปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วด่าอีกพรรคหนึ่งว่าเขาล้มล้างแล้วถึงเวลาเลือกตั้ง คะแนนเสียงเป็นแบบนี้ ถามว่าเป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ คุณตั้งพรรคการเมืองมาแล้วคุณไปชี้หน้าด่าพรรคก้าวไกลว่าล้มล้างแล้วคะแนนเลือกตั้งออกมาแบบนี้ พรรคคุณได้มากี่แสน พรรคคุณได้ส.ส.ไม่กี่คน แต่พรรคก้าวไกลที่คุณกล่าวหามี 14 ล้านกว่าเสียงได้ 151 ส.ส.

นายปิยบุตร ย้ำว่า การรักษาสถาบัน อย่าใช้วิธีการแบบนี้ ไม่ใช่การสักแต่พูดๆ แล้วชี้หน้าด่าพรรคอื่น การรักที่ถูกต้อง ต้องออกแบบรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ให้สถาบันเป็นกลางทางการเมือง ส่วนเรื่องการใช้อำนาจเป็นเรื่องรัฐมนตรี ส.ส.ว่ากัน วันนี้ไม่เห็นด้วยกับตนก็ได้ แต่จำคำตนไว้ให้ดี วันหน้าจะรู้ว่าที่พูดทุกอย่างเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ นิรโทษผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 ทางประตูหลัง ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น วันนี้เห็นตรงกันหรือไม่ ถ้าต้องการยุติความขัดแย้งกับคนรุ่นหนึ่งกับรุ่นหนึ่ง อยากให้บ้านเมืองไปต่อได้ แต่การนิรโทษเป็นเรื่องสำคัญ คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร ไม่ได้ชิงปล้นใคร ในประเทศไทยเคยนิรโทษมาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 จำนวนมากและหลังจากนั้น คณะรัฐประหารก็ออกประกาศเพิ่มโทษด้วย ทำไมงวดนี้ทำไมได้ อย่าทำให้น่ากลัวเกินเหตุ เห็นด้วยหรือไม่ก็คุยในสภา หาฉันทามติร่วมกันก็ได้ นายคำนูณอยู่เหตุการณ์นั้น เพื่อนพ้องไม่น้อยจับอาวุธเข้าป่า นายคำนูณมีส่วนในขบวนการด้วย สมัยนั้นถืออาวุธรบกับรัฐ ทำสงครามกลางเมือง อย่าวาดภาพให้เป็นเรื่องน่ากลัว

นายปิยุบตร เชื่อว่า หากถ้านิรโทษกรรม สถาบันจะได้รับการเคารพนับถือ และได้รับการยกย่องมากกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ ที่ตนพูดถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มี ส.ว.หลายคน วันนี้อายุมากขึ้นทำไมไม่ใช้สายตามองเยาวชนเหล่านี้ดู สมัยก่อนก็สู้กับรัฐไทยกับอะไร วันนี้จะหาทางออกร่วมกัน คุยกันไม่ได้เลยหรือท่าน ส.ว.ที่เคยจับอาวุธ เคยโดน 112 สู้กับรัฐไทย ช่วยเสนอแทนก้าวไกลหน่อย ไม่ไว้ใจก้าวไกลก็ไม่ต้องให้ทำก็ได้ แต่ท่านช่วยหน่อย

ส่วนที่นายสมชาย พยายามอภิปรายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้ 112 ไม่ได้ นายปิยบุตร มองว่าเป็นการ ขู่พรรคอื่นๆ ย้ำว่า ตนไม่ได้มีอำนาจ ปากกาไม่ได้อยู่ที่พวกตน ถ้าห้ามแก้ แล้ววันหนึ่งพวกท่านจะแก้เอง ทำได้หรือไม่

นายปิยุบตร ระบุว่าอย่ากลัวเกินเหตุ ลองลดความอคติลง เลิกเสพเฟกนิวส์ ไอโอ คิดให้มันแยบคายแบบโยนิโสมนสิการ ในสถานการณ์แบบนี้นายกรัฐมนตรีควรเป็นนายพิธาดีกว่าคนอื่นแน่นอน

นายปิยบุตร กล่าวถึงกรณีนายชาดา กล่าวว่า ยอมไม่ได้ที่ให้คนต่างประเทศมาฟ้องพระมหากษัตริย์ไทย ตนฟังแล้ว ใจตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม ตนต้องเรียนวาา การกระทำแบบนี้ไม่เป็นคุณต่อพระมหากษัตริย์ มองว่าอย่าเอาสถาบันไปเกี่ยวข้อง

นายปิยุบตร กล่าวในช่วงท้ายว่า การประชุมเมื่อวานนี้ ถ้า ส.ว. คนใดก็ตามไม่อยากให้พิธาเป็นนายกฯ ไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลเป็นสิทธิของท่าน อยากให้อ้างเหตุผลอื่นไปเลยว่าชอบพ.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรมากกว่า อ้างไปเลย แต่อย่าเอาประเด็น ม.112 สถาบันพระมหากษัตริย์ไปอ้าง นายพิธาและพรรคก้าวไกล หากวันหนึ่งได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ก็พร้อมอยู่แล้ว ประเทศไม่ได้ล่มสลาย สามารถเดินต่อได้ แต่ตนกังวลใจว่ากาาเอา มาตรา112 มาเป็นข้ออ้าง เพราะเป็นการเอาประเด็นมายุ่งกับเรื่องการเมือง พร้อมถามว่าสมาชิกสภาที่พูดต่อยหอยเมื่อวานรับผิดชอบไหวหรือไม่ รักสถาบันภาษาอะไรทำแบบนี้ ตนโดนด่าตลอดชีวิตมีความคิดอันตราย พร้อมทิ้งท้ายว่าสิ่งนายคำนูนอภิปรายเมื่อวานนี้เป็นการทำลายมาตรา 6 ทางประตูหลังนี่แหละ ฝากคำนูนไว้เลย



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/NG_Oi4w5xy4

คุณอาจสนใจ

Related News