เลือกตั้งและการเมือง

หัวหน้าผู้ออกแบบรัฐสภามาเอง แจงยิบหลักออกแบบ คัดค้านปรับปรุงพื้นที่-ถมสระมรกต

โดย paranee_s

8 พ.ค. 2568

893 views

วันนี้ (8 พ.ค. 2568) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดย ศาสตราจารย์ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจากนายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภา ภายหลังสภาเตรียมของบเพื่อปรับปรุงใหม่


โดยนายชาตรี แถลงกว่าครึ่งชั่วโมงว่า ที่ผ่านมา 10 ปี ตนไม่เคยออกมาพูด เพราะคุยกับผู้ใหญ่แล้วว่าหากมีความเห็นไม่ตรงกันจะมีปัญหาหลายส่วน โดยตนขอคัดค้านการที่ รัฐสภาได้จัดทำงบประมาณจากปิดสระมรกต เพื่อสร้างเป็นห้องสมุด และร้านค้าเพื่อบริการประชาชน โดยอ้างสาเหตุหลักมาจากปัญหาน้ำรั่วซึมและเกิดปัญหาน้ำเน่ายุงชุม ซึ่งขอชี้แจงว่า สระมรกต ถูกออกแบบและมีระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ มีระบบเกลือหรือคลอรีน หากดูแลตามปกติวิสัย มีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐาน ไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน และเรื่องสระรั่วซึม เป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้างควรเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมา เนื่องจากอยู่ในระยะประกันผลงาน และเพิ่งตรวจรับงานไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องเอาปัญหา ของผู้รับเหมามาเป็นของตัวเอง


ส่วนความคิดที่จะย้ายห้องสมุดจากชั้น 9-10 ลงมาชั้น 1 นั้นนายชาตรี กล่าวว่าไม่สมเหตุสมผล สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าว ใช้งบประมาณ ถึง 100 กว่าล้าน และยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ และพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุที่อยู่ชั้น 8 และผู้ที่ใช้งานห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็น สส., .สว. และข้าราชการสภา หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ไม่ควรย้ายมาบริเวณสระมรกต ควรสร้างนอกอาคาร อีกทั้งการที่ใช้พื้นที่สระมรกต ทำห้องสมุด อาจจะกระทบกับโครงสร้างที่ออกแบบไว้ได้เนื่องจากห้องสมุดมีน้ำหนักมากพอสมควร


นายชาตรี ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการถมพื้นที่สระมรกต เนื่องจากตอนออกแบบ ต้องการให้อาคารรัฐสภา เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ระดับดีเด่น (แบบตู้กับข้าว) มีช่องลมให้อากาศพัดผ่านในทุกทิศ และแสงที่ส่องผ่านลงมากระทบผนัง เสาสระน้ำ และอาคาร เจาะจงให้แสงเข้ามาน้อยเพื่อให้บรรยากาศที่สงบ ร่มเย็นและมั่นคง อาศัยเทคนิคการปรับเย็น โดยวิธีธรรมชาติ สูงขึ้น เป็นหลักในพื้นที่โถงและทางเดินโดยอาคารจะถูกเจาะให้เป็นรูพรุนด้วยช่องลมทุกชั้นทุกทิศทางเพื่อให้ลมพัดความร้อนออกจากอาคาร เป็นที่สังเกตว่า อากาศในพื้นที่นี้จะมีสภาวะสบาย แม้อากาศภายนอกจะร้อนมากในฤดูร้อนก็ตาม


แต่หากถมสระ เพื่อสร้างห้องสมุดจะต้องติดแอร์ทั้งหมด ซึ่งตนนึกไม่ออกว่าพื้นที่โล่ง 10 ชั้นจะต้องใช้งบประมาณ ขนาดไหน ทั้งในการติดแอร์และปิดช่องต่างๆ ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนจะต้องมีค่าไฟอีกจำนวนมหาศาล


สำหรับศาลาแก้ว ที่จะมีการของบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง นั้น นายชาตรี กล่าวว่า ตนก็ขอคัดค้านเช่นกัน เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่นพิธีทำบุญเทศกาลต่างๆ ของรัฐสภา แต่ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนี้ยังก่อสร้างอยู่นั้น ไม่ได้อยู่ในแบบ และที่ไม่ได้ติดแอร์ศาลาแก้ว แต่สามารถใช้งานได้จริง เพราะออกแบบให้มีผ้าใบที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียม ที่สะท้อนแสงกันความร้อน ซึ่งสามารถเลื่อนติดกระจกปิดกระจกให้ทึบได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยอากาศระหว่างระบบผ้าใบจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง และศาลาอยู่ในที่โล่ง ลมพัดสะดวก ถูกออกแบบมาให้ลดอุณหภูมิโดย สระน้ำที่อยู่โดยรอบ


และงานออกแบบนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงแค่เหตุผลการใช้งาน แต่มีเป้าหมายให้เป็นปฏิมากรรมสัญลักษณ์ที่แสดงถึงจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย และเป็นภาพจำหนึ่งของความเป็นไทยร่วมสมัยให้สังคมสถาปัตยกรรมโลก


เมื่อถามว่าตอนรับมอบเป็นไปตามสเปกหรือไม่ จนต้องของงบประมาณเพิ่ม เพื่อปรับปรุง นายชาตรี กล่าวว่า งานออกแบบของเราใช้งบประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับแบบ อย่าใช้งบประมาณ 12,000 กว่าล้านบาท แต่นอกเหนือจากนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเราเลย และไม่ได้เห็นด้วยในหลาย ๆ เรื่อง แต่เป็นโครงการที่อยู่นอกสัญญาหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐสภาทำ


หากถามว่าตรงตามสเปคหรือไม่ก็เหมือนกับงานก่อสร้างทั่วไปที่ปัญหามากมาย ซึ่งการก่อสร้าง ใช้ทีมงานแบบเต็มทีมเหมือนก่อสร้างตึกของสตง. มีที่ปรึกษา และมีผู้รับผิดชอบ ส่วนผู้ออกแบบ ได้รับเชิญก็ไป แต่ 3-4 เดือนสุดท้ายก่อนที่จะรับมอบงาน พวกตนไม่ได้รับเชิญ


เมื่อถามว่าส่วนที่ต่อเติมนอกเหนือจากแบบขึ้นมาถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายชาตรี กล่าวว่า ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการรับจ้างออกแบบ รัฐถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ และเมื่อเป็นของรัฐ รัฐก็มีสิทธิ์ แต่ในฐานะผู้ออกแบบ ช่วยให้ความเคารพ กับงานของเรา และปรึกษาเราหน่อย


เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการก่อสร้างที่จอดรถเพิ่มจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรือไม่ นายชาตรี กล่าว ไม่ทราบรายละเอียด แต่คนที่ทำจะต้องระวังเรื่องน้ำท่วม เพราะอาคารรัฐสภาที่ทำไว้แล้ว ได้มีการออกแบบป้องกันน้ำท่วมชั้นใต้ดินระดับ 4 เมตร


และเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่อยู่ระดับ 2.5 เมตร ดังนั้นน้ำไม่ท่วมแน่นอน แต่พื้นที่บริเวณถนนสามเสนต่ำ หากเดินจากลานประชาชนเข้าไป จะพบประตูหนึ่งซึ่งเป็นประตูกันน้ำ ดังนั้น ณ วันนี้ต่อให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ รัฐสภาก็ไม่ท่วมยืนยันได้ และความจริงในเรื่องที่จอดรถตอนที่ออกแบบก่อสร้าง เราทราบว่า ไม่เพียงพอ จึงได้ ประสานกับทางทหารฝั่งสามเสนและวัดแก้วฟ้าฯ เพื่อขอใช้ที่จอดรถเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งตนเสนอไปถึง 8 ครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ