เลือกตั้งและการเมือง
นายกฯ รับรายงาน เลขาฯ สมช. ส่งชาวอุยกูร์กลับบ้าน ชี้ทุกคนแฮปปี้ ผู้ช่วย รมต.กต.มั่นใจการส่งกลับจีนเป็นทางเลือกดีที่สุด
โดย paranee_s
1 มี.ค. 2568
78 views
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ เวลาประมาณ 08.30 น. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานจากคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พลตำรวจเอก ไกรบุญ ทรวดทรง รอง.ผบ.ตร. และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ที่เดินทางไปพร้อมกัน เพื่อส่งชาวอุยกูร์ ที่อยู่ห่างไกลกลับไปพบกับครอบครัวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยจะติดตามอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลจีนให้ความมั่นใจอีกครั้งว่า พวกเขาคือพลเมืองจีนที่จะต้องดูแลเป็นอย่างดี โดยเลขาฯ สมช. มั่นใจว่าหลังจากเดินทางส่งชาวอุยกูร์ถึงบ้านแล้ว ได้วางกรอบไว้ว่าประมาณ 15 วัน – 1 เดือน คณะผู้แทนระดับสูงของไทย จะบินไปติดตามพันธสัญญาที่ทั้งสองประเทศให้ไว้ต่อกันอย่างต่อเนื่อง
โดยคณะชุดนี้รายงานว่า ได้อยู่สังเกตการณ์และตรวจสอบชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับสู่แผ่นดินแม่ในรอบ 11 ปี ที่เรียกว่า “11 Year Mission possible “โดยชาวอุยกูร์ 40 เดินทางถึงเมือง “คาซือ” หรือ เมืองคัชการ์ มณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้กับบ้านเกิดของชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวมากที่สุด โดยหลังจากได้รับการตรวจสุขภาพ และได้ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ใกล้เมือง “คาซือ” ในระยะไม่เกิน 140 กิโลเมตร และกลุ่มที่อยู่ไกลจากเมืองคาซือกว่า 1 พันกิโลเมตร เนื่องจากมณฑลซินเจียง มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า รัฐบาลจีนจึงได้จัดยานพาหนะเพื่อส่งกลับไปตามบ้านเกิด ที่กระจายในหลายเมืองของมณฑลดังกล่าว
ในช่วง 14.00 น. เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์) นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมคณะ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปสังเกตการณ์การเดินทางส่งกลับในจุดที่ห่างจากเมือง “คาซือ” ที่อำเภอ “เจียซือ” ห่างจากเมือง “คาซือ “ประมาณ140 กิโลเมตร โดยมีชาวอุยกูร์ที่ผ่านการตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางถึงบ้านเกิดด้วยความปลอดภัย ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว โดยพวกเขาเหล่านั้นแสดงความดีใจ ที่ได้กลับมาพบกับครอบครัว และบางคนเป็นครั้งแรกที่ได้พบกับหลาน ๆ สมาชิกใหม่ของครอบครัว ซึ่งบางคนสามารถพูดภาษาไทยได้บ้างก็ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ดูแลตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ต่อมาช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันเดียวกัน คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่ยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ในโรงพยาบาลประจำอำเภอ “เจียซือ” ในเมือง “คาซือ” โดยพวกเขาได้ฝากความระลึกถึงและขอบคุณผู้แทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี ที่เข้ามาเยี่ยม และร่วมประกอบพิธีทางศาสนารวมทั้งเลี้ยงอาหารฮาลาล ในระหว่างที่อยู่ในห้องกักของ สตม.
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า “เท่าที่ตนเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองพร้อม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะ รู้สึกได้ถึงความผูกพันระหว่างชาวอุยกูร์กับเจ้าหน้าที่ของ สตม. ทำให้การส่งกลับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยืนยันในส่วนของการพิจารณาการส่งกลับในเรื่องนี้นั้น ประเทศไทยได้พิจารณาในทุกมิติ ประเทศไทยได้พยายามเจรจากับรัฐบาลจีนมาตลอดระยะเวลา 10 ปี เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้จีนรับรองความปลอดภัยของการส่งกลับชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าว และการต้องอนุญาตให้คณะผู้แทนไทยสามารถเดินทางไปตรวจเยี่ยมภายหลังจากการส่งกลับได้แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ จนมาในยุครัฐบาลปัจจุบันที่รัฐบาลจีนได้มีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ และการพบปะหารือระดับผู้นำประเทศในห้วงการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในโอกาสการสถานปนาความสัมพันธ์ไทย - จีน ครบรอบ 50 ปี ของนายกรัฐมนตรี ทางการจีนก็ยืนยันในหลักการรับรองความปลอดภัยด้วยอีกครั้ง
นอกจากนี้ เมื่อเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดการแสดงวัฒนธรรมในย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร โดยหนึ่งในการแสดง นั้นมีการแสดงของชาวอุยกูร์ สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับของรัฐบาลจีนต่ออัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ด้วย ทั้งนี้ ก่อนการส่งกลับชาวอุยกูร์ จีนได้ส่งคลิปญาติพี่น้องของผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในบ้านเกิดของตนเองในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากเมื่อ 11 ปีที่แล้ว จนทำให้ชาวอุยกูร์ต้องการจะเดินทางกลับ เนื่องจากติดอยู่ในห้องกักมาเกือบ 10 ปี และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้นำเนื้อหาในหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการจากทางการจีน มาแปลเป็นภาษาอุยกูร์เพื่อให้ชาวอุยกูร์ในห้องกักดู จนนำมาสู่การเดินทางกลับโดยสมัครใจในท้ายที่สุด นายฉัตรชัยกล่าว
ด้านนายจิรายุ กล่าวว่า “สำหรับการเดินทางเยือนจีนเพื่อสังเกตการณ์และตรวจเยี่ยมการส่งกลับชาวอุยกูร์ครั้งแรกของคณะผู้แทนไทยนั้นจะเดินทางกลับในวันอาทิตย์นี้ พร้อมสรุปรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน โดยจะมีการติดตามตรวจสอบตามว่าชาวอุยกูร์ 40 คนที่กลับแผ่นดินแม่ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีสิทธิเสรีภาพต่อไป ตามเจตจำนงของทั้งสองประเทศ ส่วนการเดินทางครั้งที่ 2 เมื่อคณะดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทยและมีการสรุปรายงานเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะกำหนดการเดินทางไปตรวจเยี่ยมชาวอุยกูร์อีกครั้งในระยะเวลาประมาณ 15 ถึง 30 วันซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันถึงความโปร่งใสและจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนเดินทางร่วมในการตรวจเยี่ยมดังกล่าวด้วย”
ขณะที่ นายรัศม์ ชาลีจีนทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีอุยกูร์ 40 คนว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่เห็น และที่ไทยไม่ได้มีทางเลือกมากนัก มีแค่ 3 ประการ
1. ไม่ส่งให้ใคร และคุมขังพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ
2. ส่งไปให้ประเทศที่สาม (หากมีประเทศใดที่จะแน่วแน่ช่วยเหลือยอมรับอย่างจริงจัง)
3. ส่งกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งคือจีน
ทางเลือกที่ 1. ง่ายแต่ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกักขังโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนด (indefinite detention) ซึ่งเข้าข่ายผิดทั้งกฏหมายทั้งของไทยและระหว่างประเทศ และโหดร้ายต่อชะตากรรมพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมยิ่ง
ทางเลือกที่ 2.) ฟังดูดีที่สุดแต่ยากจะเป็นไปได้จริง เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้มีประเทศไหนมุ่งมั่นอยากรับจริง อาจมีที่เคยแสดงท่าทีบ้างแล้วก็เงียบหาย ไม่ได้จะมาแน่วแน่ช่วยเหลืออย่างจริงจังเต็มที่อะไร แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หรือองค์การระหว่างประเทศเองอย่าง UNHCR ก็ไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่คนเหล่านี้
บางประเทศมาชี้นิ้วห้ามไทยส่งให้จีน แต่ก็ไม่ได้มีข้อเสนอทางเลือกอื่นอะไรให้ ซึ่งจริง ๆ ประเทศเหล่านี้ทำไมไม่ไปล็อบบี้ เจรจากับจีนโดยตรงบ้าง ว่าขอให้ยอมส่งไปประเทศที่สามได้ ก็ไม่เห็นมีประเทศไหนทำ รวมทั้งไม่เห็นมีใครมาบอกว่าหากไทยถูกจีนตอบโต้แล้วจะมาช่วยเหลืออะไรเรา เรื่องมันน่าเศร้าที่ประเทศต่างๆ เอาเข้าจริงก็มักหน้าไหว้หลังหลอก ไม่ได้ตั้งใจช่วยเหลือเราจริงจัง มีแต่คำพูดสวยหรู และเก่งกับชี้นิ้วประเทศเล็กๆ อย่างไทยเท่านั้น
ในขณะที่การส่งตัวไปประเทศที่สาม ไทยอาจต้องเผชิญกับการตอบโต้จากฝ่ายจีนโดยไม่มีประเทศไหนจะยื่นมือมาช่วยเหลือ ที่อาจส่งผลกระทบระดับรุนแรงต่อประชาชนคนไทยจำนวนมากที่ไม่ควรต้องมารับผลด้วย คำถามจึงคือคนไทยพร้อมจะเผชิญสิ่งนี้หรือไม่เพียงใด? การส่งตัวไปประเทศที่สาม แม้ฟังดูดีแต่ในความเป็นจริงยากจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาลไทยก็ตาม นี่คือความเป็นจริง
ทางเลือกที่ 3. แม้อาจฟังดูโหดร้าย แต่โดยที่ทางการจีนได้มีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการต่อความปลอดภัยของคนเหล่านี้ตามที่ไทยขอซึ่งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อสิ่งที่จีนรับรองอย่างเป็นทางการ และแม้หลายฝ่ายอาจไม่เชื่อจีน แต่เมื่อเขามีหนังสือรับรองเป็นทางการแล้ว เขาก็มีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามนั้นก็เท่ากับผิดคำพูดและย่อมเป็นผลเสียต่อจีนเอง ซึ่งผมคิดว่าจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจก็จำเป็นต้องรักษาคำพูดของเขาเช่นกัน
นายรัศม์ ยังเห็นว่า ทางการไทยมีท่าทีตลอดมาว่าจะหาทางออกเรื่องนี้ให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งเมื่อไม่มีประเทศใดจริงจังที่จะรับคนพวกนี้ และทางจีนมีหนังสือรับรองความปลอดภัยเป็นทางการแล้ว ไทยย่อมต้องถือตามนั้น จะไปบอกว่าเราไม่เชื่อถือคำพูดของเขาไม่ได้ ไม่งั้นก็ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กัน และโดยที่จีนรับรองความปลอดภัยเป็นทางการแล้ว ประเด็นการส่งตัวไปสู่สภาวะอันตราย ซึ่งไทยมีกฏหมายห้ามและที่อาจขัดหลัก non-refoulement ตามกฏหมายระหว่างประเทศ จึงหมดไป แต่ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ฟ้องศาลได้และแล้วแต่ศาลจะตีความอีกที
นายรัศม์ ยังเห็นว่า ในแง่หนึ่ง การส่งกลับไปจีนถือเป็นเรื่องมนุษยธรรมได้เช่นกัน เพราะการกักขังเขาโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนดนั้น ยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้มนุษยธรรมยิ่งกว่าไม่งั้นเราอยากจะให้ขังพวกเขาตายจนคาคุกหรือ? เพราะไม่มีประเทศไหนที่ยอมช่วยเหลือจริงจัง (ขอเน้นคำว่าจริงจัง)
นายรัศม์ ยังมั่นใจว่า เมื่อพิจารณาจากทางเลือกทั้ง 3 ประการ การส่งตัวกลับจีนโดยได้รับการรับรองความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ไทยพอทำได้ และยังดีกว่าขังพวกเขาไปเรื่อยๆ จนตายคาห้องขัง อย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งอาจไม่ถูกใจหลายคน และเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ไทยไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหานี้ขึ้นมาแต่แรก และเรื่องนี้มันเอาแต่พูดสวยหรูโก้ ๆ ไม่ได้เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตปากท้องประชาชนคนไทยโดยรวมด้วยเช่นกัน ที่ไม่ได้มีประเทศใดจะยื่นมือมาช่วยเราจริง และก็ยอมรับว่าจริง ๆ มันน่าเศร้า และใจผมก็ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แต่นึกไม่ออกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร
แท็กที่เกี่ยวข้อง