เลือกตั้งและการเมือง
“รักชนก” เปิด 6 ประเด็นงบประกันสังคม ส่อไม่โปร่งใส
โดย chutikan_o
16 ก.พ. 2568
2.2K views
“รักชนก” ซัดงบประกันสังคม ไม่โปร่งใส ทริปดูงานต่างประเทศหรูแต่ไม่ได้อะไรกลับมา คอลเซ็นเตอร์งบ 100 ล้าน สายไม่เคยว่าง โบนัสปีละ 100 ล้าน ทำงานสมกับเงินหรือไม่ งบ PR กว่า 300 ล้านแต่คนไม่เคยเห็น
วันที่ 16 ก.พ. 2568 น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องงบประกันสังคม โดยระบุข้อความว่า ครั้งแรกของการ #Hackงบประกันสังคม!! กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ ยังมีบางส่วนที่เป็นหลุมดำ ซื้อแบบจำเพาะเจาะจงเยอะ ส่วนอันที่แข่งราคาก็ไม่โปร่งใส หากไม่มีบอร์ดประกันสังคมซึ่งมาจากการเลือกตั้งประกันสังคมก้าวหน้า ประชาชนคงไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เอาน้ำจิ้มจากงานมาฝาก
ประเด็น การต่างประเทศ
ทริปดูงานทริปหนึ่งของ ประกันสังคม 6 วัน 5 คืน งบประมาณที่ใช้ 2.2 ล้าน สำหรับ 10 คน ค่าบัตรโดยสาร การเบิกเฟิร์สคลาส 160,000 บาท 2 คน ราคาตลาดต่างกันเกือบ 60,000 บาท ค่าที่พัก 16,000 บาท/วัน/คืน คือราคาระดับ 5 ดาวของญี่ปุ่น จำเป็นไหมต้องใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขนาดนี้ ค่าพาหนะในการเดินทางต่างประเทศ 35,000 บาท ต่อคน ไปดูงานทำไมไม่ใช้วิธีเหมารถ ประชาชนถามชัด ๆ ดัง ๆ ไปดูงานแล้ว ได้อะไรกลับ
ประเด็น งบภาพรวม
รายจ่ายประกันสังคม เพิ่มขึ้นทุกปี
ปี 63 4,000 ล้าน
ปี 64 5,281 ล้าน
ปี 65 5,332 ล้าน
ปี 66 6,614 ล้าน
งบยุทธศาสตร์ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วง 63 - 64
จาก 965 ล้าน กระโดดไป 2,000 ล้านบาท
Call Center 1506 มีค่าใช้จ่ายหลัก 100 ล้านในทุก ๆ ปี เป็นค่าเช่าสถานที่ 50 ล้าน แต่คอลเซ็นเตอร์ สายไม่เคยว่าง กด 0 แล้วก็รอไปยาวๆ สุดท้ายขอข้อมูลอะไรไม่ได้ ในปี 66 โครงการใหญ่ เปลี่ยนระบบงานจากคอม เป็นเว็บแอปฯ 550 ล้าน มีความจำเป็นหรือไม่?
ค่าใช้จ่ายจัดหาระบบสารสนเทศเพื่อกำหนดนโยบาย 117 ล้าน ผู้นำเสนอชี้ว่าหากผู้บริหารควรคิดเองบ้าง ไม่ใช่มาจ้างคนมากำหนด ไม่เช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้บริหารก็ได้จ้างเอกชนเอา อีกประเด็นที่น่าสงสัย ค่าตอบแทนประจำปี (โบนัสหรือไม่?) 65 - 66 ปีละ 100 ล้าน ทำงานเหมาะสมกับโบนัสหรือไม่ ? สนง.ประกันสังคมมีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงหลัก “ล้านล้านบาท” ในหลายปีที่ผ่านมา
ประเด็น งบอบรมสัมนา
เขียนโครงการเหมือนๆกันทุกปี อบรมหัวข้อเดิมๆกับคนกลุ่มเดิมแต่จัดทุกปี เช่น ปี 63 โครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ใช้งบ 2.5 ล้าน ปี 64 ก็โครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ 2.5 ล้าน และทำแบบเดิมกันทุกปี การอบรมบางโครงการซ้ำซ้อน และบางโครงการถูกตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ เช่น โครงการอบรมเทคนิคการเป็นวิทยากรมืออาชีพ โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านการบริหารพัสดุ ทุกโครงการไร้เป้าหมาย ขาดการวัดผล
ประเด็น งบประชาสัมพันธ์!!
งบสำนักงาน 2567 5,303 ล้านบาท งบ PR ในงบสำนักงาน 336 ล้านบาท การเบิกจ่ายพอๆ กันทุกปี จึงต้องเน้นดูผลลัพธ์ ซึ่ง TOR งานประชาสัมพันธ์ไม่เคยถูกช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปฏิทินประกันสังคม ปี 67 ใช้งบ 55 ล้าน และงบประมาณในการจัดทำปฏิทิน 8 ปีย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท
ปี 59 ผลิตปฏิทิน ใช้วิธีกรณีพิเศษ (การจ้างผ่านหน่วยงานรัฐ) 75.91 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ชนะราคา
ปี 60 ผลิตปฏิทิน ใช้วิธีกรณีพิเศษ (การจ้างผ่านหน่วยงานรัฐ) 76 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ชนะราคา
ปี 62 ผลิตปฏิทิน ใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) 53.45 ล้านบาท บริษัท ยูไนเต็ดโปรดักชั่น เพรส จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
ปี 64 ผลิตปฏิทิน ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง 54.31 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ชนะราคา
ปี 65 ผลิตปฏิทิน ด้วยวิธีการคัดเลือก 54.98 ล้านบาท องค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ชนะราคา
อะไรทำให้ต้องการผลิตในราคารวม 50-70 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าใน 5 ปี มี 2 ปี ใช้วิธี กรณีพิเศษ มี 1 ปี E-Biding มี 2 ปีเฉพาะเจาะจง งบประมาณก้อนใหญ่แต่ไม่ใช้ e-Bidding ให้แข่งราคา และปีที่ แข่งราคา e-Bidding เป็นยอดงบประมาณที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้วิธีอื่น
ประเด็น เทคโนโลยีสารสนเทศ
โครงการพัฒนา แอพพลิเคชั่น SSO+ งบประมาณ 276 ล้านบาท เป็นงบที่รวมถึงการจัดทำระบบ เมื่อตรวจข้อมูลจาก ACTAI พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติในการเสนอราคา ตัวแอพประชาชนให้เรทติ้ง 1.5 แสดงถึงความล้มเหลวของแพลตฟอร์ม ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไป ทุกวันนี้ยังสแกนจ่ายค่าประกันสังคมผ่านแอพไม่ได้ ต้องจ่าย 7-11 ในการเปลี่ยนผ่านจาก SSO Connect ไปยัง SSO พลัส เลือกวิธีการเปลี่ยนตั้งแต่ฐานข้อมูลยันโปรแกรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ที่ต้องทำทั้งหมด สิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณ
ประเด็น พื้นฐานประกันสังคม
คอนเทนต์ที่สำนักงานประกันสังคมทำอยู่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ไม่ได้ คอนเทนต์ไม่ทันยุค โปสเตอร์ที่แจกให้รายละเอียดเยอะจริง แต่อ่านยากและรูปแบบไม่น่าสนใจคนไม่อยากอ่าน Tiktok เรื่องประกันสังคมที่แมส ๆ ส่วนใหญ่มาจากคนนอกทำ
ขั้นตอนในการเข้าถึงประกันสังคม เข้าใจยากสำหรับคนรุ่นใหม่ ย้อนแย้งกับงบประมาณ เพราะแต่ละปีงบประชาสัมพันธ์เยอะมาก แต่แม้กระทั่งคนใน กทม. ก็ไม่เคยเจอการประชาสัมพันธ์ของประกันสังคม ใช้งบกับการทำปฏิทินในปี 67 55 ล้าน วารสาร 15 ล้าน แผ่นพับ 5 ล้าน นี่คืองบ 1 ปี ที่ประกันสังคมใช้ประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากนำเงินไปทำในสิ่งที่ได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนจริง ๆ หรือ การนำไปทบเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนมากขึ้น อาจจะดีกว่านี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไอซ์ รักชนก ,งบประกันสังคม