เลือกตั้งและการเมือง
สส.เพื่อไทย ร่วมลงชื่อหนุน ญัตติด่วน “หมอเปรม” ขอให้ส่งศาลตีความก่อนถกร่างแก้ไข รธน.
โดย paranee_s
13 ก.พ. 2568
192 views
วันนี้ (13 ก.พ. 2568) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งวันนี้วาระสำคัญคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่างของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
โดยมี นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอญัตติด่วนขึ้นมาแทรก เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมา ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ต้องขอมติในที่ประชุมว่าจะเลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนำญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการบรรจุระเบียบวาระเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา และประธานก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับได้
“ไม่ใช่ความเห็นของท่านประธานเพียงฝ่ายเดียวเลยด้วยซ้ำ ท่านพริษฐ์เข้าไปชี้แจงให้ท่านประธานฝ่ายกฎหมายอีกหลายท่าน มีทีมงานหลายท่านที่ช่วยกันวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำไมรัฐสภาถึงบรรจุร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยที่ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนี่คืออำนาจโดยแท้ตามรัฐธรรมนูญของท่านประธานนะครับ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่ออย่างมีอารมณ์ว่า ประการที่สอง เรื่องนี้เป็นอำนาจโดยแท้ของผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่เราสามารถพิจารณาได้ตามหลักสากล การถ่วงดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการหรือองค์กรอิสระ เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ถ้าไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ผลของมันคือจะไม่ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายเท่านั้นเอง
“ไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจ แล้วมาบอกว่ารัฐสภานั้นพิจารณากฎหมายอะไรได้หรือไม่ได้ นี่คืออำนาจโดยแท้ที่ปวงชนชาวไทยมอบให้ทุกท่านมาทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ และผมคิดว่าญัตติวันนี้ รวมถึงความเห็นของเพื่อนสมาชิกบางท่านที่บอกว่าเราไม่สามารถมีอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำไมเราถึงต้องเร่งแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ในเมื่อแม้กระทั่งผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาแห่งนี้ ในการแก้ไขกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายังสงสัยตัวเองกันเลยว่าเราทำได้หรือไม่ได้ แล้วประชาชนเขาให้อำนาจเรามาทำไม ผมขอเรียกร้องสมาชิกทุกท่านมีความกล้าหาญในการทำหน้าที่ของตัวเอง ในการเป็นผู้แทนประชาชน ถ้าไม่มีความกล้าหาญ ไม่ต้องเสนอตัวมาเป็นผู้แทนประชาชน ผมไม่เห็นด้วยกับการเล่นญัตตินี้ขึ้นมา” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ในที่สุด เวลา 11.20 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 275 ต่อ 247 ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมาแทนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
จากนั้น ปรากฏว่า นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ลุกแจ้งต่อประธานว่าไม่เห็นด้วยกับการที่มีการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ก่อนจะขออนุญาตออกจากห้องประชุมทันที โดยมีกลุ่ม สว.สีน้ำเงินลุกออกจากห้องประชุมทันที ไม่เว้นแต่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งด้วย ขณะที่กลุ่ม สส. พรรคเพื่อไทย จากที่นั่งประชุมก็ลุกขึ้นมาจับกลุ่มหารือกลางห้องประชุมด้วยท่าทีเคร่งเครียด
ต่อมา นางนันทนา นันทวโรภาส สว. ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าบรรยากาศที่ห้องประชุมสะท้อนภาพลักษณ์ของวุฒิสภา เราทำอะไรกันอยู่ เมื่อโหวตลงมติแล้วมติเป็นเช่นไรทำไมไม่ยอมรับมตินั้น ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้มติวอล์คเอาท์เดินออก นี่เป็นมติของสมาชิกรัฐสภา และก่อนลงมติก็อภิปรายอย่างกว้างขวางกว้าง จบสิ้นขบวนความแล้วเหตุใดผลไม่ถูกใจวอล์คเอาท์
“ดิฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภาแห่งนี้ นี่คือสถานที่ที่เป็นที่รวมของผู้แทนปวงชน และทำไมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ไม่ยอมรับกติกานี้ ทำไมไม่ให้เดินไปตามกระบวนการเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุด้วยมือของท่านเอง และทุกคนก็มาอภิปรายให้เหตุผลว่าแก้ รัฐธรรมนูญไปทำไม”
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ภายหลัง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นญัตติด่วนเรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) โดยมีผู้เข้าร่วมลงชื่อรับรอง ทั้งจากฝั่ง สส. และ สว. ซึ่งมีข้อสังเกตว่า มี สส. ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมในวันนี้ ร่วมลงชื่อด้วย
โดยในรายชื่อมี สส. จากพรรคเพื่อไทย เช่น นายสรวงศ์ เทียนทอง, นางมนพร เจริญศรี, นพ.เชิดชัย ตันติศิรนทร์ และพรรคกล้าธรรม อาทิ นายไผ่ ลิกค์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา เป็นต้น ซึ่งหลายคนร่วมลงชื่อกับ สว. แสดงความสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) มี สส. หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ดังนั้น จึงเห็นว่าเพื่อความมั่นใจและความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน อีกทั้งเสียงสนับสนุนจาก สว. ก็คงไม่ครบ เพราะพรรคภูมิใจไทยก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว
ต่อมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้คุยกันแล้ว คุยกับพรรคการเมืองทุกพรรค โดยในส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็บอกโอเค เป็นไปตามข้อมูล แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เขาเสนอ ส่วนพรรคกล้าธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมายของคณะรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอ จึงเป็นเรื่องของสภา หากพรรคภูมิใจไทยไม่เดินตามนี้ ก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ ใครตัดสินใจอะไรก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็นกฎหมายที่ ครม.ยื่น ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
เมื่อถามถึงกรณีมี สส.พรรคเพื่อไทยบางคน ไปเข้าชื่อญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการทำประชามติต้องกี่ครั้ง นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.ทุกคน
เมื่อถามย้ำว่า เป็นเกมยืมมือ ส.ว.ให้ยื่นศาลตีความ เพื่อชะลอและป้องกันไม่ให้ร่างนี้ถูกโหวตควํ่าใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า “อย่าไปคิดว่าเรามีทริกทางการเมือง เราตรงไปตรงมา เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้พรรคร่วมฯ พิจารณา และแถลงต่อรัฐสภา เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ส่วนจะเกิดหรือไม่ต้องไปดูอีกทีหนึ่ง”
เมื่อถามว่า จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราไปตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสภา ที่มีทั้ง สส.และ ส.ว. สิ่งที่ทำได้คือยึดมั่นในนโยบายของเรา พยายามผลักดันเพื่อให้ได้รับการพิจารณา ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีส่วนร่วมหรือไม่ สังคมรับรู้
แท็กที่เกี่ยวข้อง