เลือกตั้งและการเมือง

วุ่นตั้งแต่เริ่ม! “ภูมิใจไทย” วอล์กเอาท์ยกพรรค ถกแก้ รธน. “หมอเปรม” ยื่นญัตติด่วนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน

โดย paranee_s

13 ก.พ. 2568

316 views

วันนี้ (13 ก.พ. 2568) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งวันนี้มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) จำนวน 2 ร่างของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชนและนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ



ช่วงต้นของการประชุม นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนในนามของตัวแทนสมาชิกรัฐสภา ในสังกัดพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด มีความคิดเห็นว่าวาระที่จะถูกพิจารณาหลังจากนี้นั้น เข้าขั้นที่จะผิดและขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมพิจารณา ก่อนที่ สส.พรรคภูมิใจไทยเดินออกจากที่ประชุมทันที


จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ได้หยิบยกญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมา


ทำให้นายณัฐวุฒิ ลุกขึ้นขอหารือ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ ได้ยื่นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เพราะขณะนี้ก็ยังไม่เห็นญัตติดังกล่าว ส่งถึงสมาชิกแต่อย่างใด จึงขอให้ประธานสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้วิป 3 ฝ่ายได้หารือร่วมกัน


ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่าทราบเรื่องระเบียบการยื่นญัตติด่วนดี จึงได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกทั้ง สส. และ สว. เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ควรมีสมาชิก 2 สภาร่วมกัน โดยมีรายชื่อเกิน 40 คนอย่างแน่นอน โดยย้ำว่าเอกสารทั้งหมดทำตามขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องห่วงใยและในฐานะที่เป็นสมาชิกอยู่สภามานาน รู้ทุกอย่าง และเข้าใจว่าสมาชิกที่มาใหม่อยากตั้งข้อสังเกตว่าถูกต้องหรือไม่ จึงย้ำอีกครั้งว่าตนเป็นคนมีวุฒิภาวะ ทำอะไรรอบคอบ เพราะอยากให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากประชาชนเฝ้ามองอยู่ว่าสมาชิกมีแนวคิดอย่างไร ตนบรรจงเขียนอย่างสุดยอดในชีวิต เพื่อให้สมาชิกพิจารณาตามขั้นตอน


นายวันมูหะมัดนอร์ จึงกล่าวว่า ตนยอมรับว่าญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์เป็นเรื่องด่วน จึงขอให้เจ้าหน้าที่แจกญัตติให้สมาชิกรัฐสภาอ่าน และขอสั่งพักการประชุม 15 นาที ให้ได้ศึกษาและหารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อประโยชน์ของการประชุมในวันนี้


ทางด้าน สส.พรรคภูมิใจไทย ภายหลังวอล์กเอาท์ออกจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้ลงมาแถลงร่วมกันถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า จุดยืนของพรรคไม่ขอพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอทำความเข้าใจถึงกระแสข่าวที่พยายามดึงพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอยืนยันว่าพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องชอบธรรม และไม่สร้างปัญหาในอนาคต ซึ่งในวันนี้ที่จะมีการพิจารณาแก้ไข ม. 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นได้ชัดว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนก่อน


ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มสว.สีขาว ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลา 08.30 น. ตนได้ยื่นญัตติด่วน เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ร่วมลงชื่อทั้ง สส.และสว. กว่า 40 คน จึงถือว่าเป็นญัตติร่วมกันของสมาชิกทั้ง 2 สภา เพราะวันนี้ที่ประชุมรัฐสภาวันนี้จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และ เพิ่มหมวด 15/1 ของนายพริษฐ์ วัชระสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน และของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย


ซึ่งพวกตนได้ฟังเสียงของสมาชิกรัฐสภา เห็นว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะการยื่นเพื่อขอให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเคยมีมาหลายครั้ง แต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2564 ระบุชัดเจนว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งการยื่นแก้ไขในครั้งนี้เราเห็นว่า เป็นการข้ามขั้นตอน ยังไม่มีการทำประชามติ จึงขอให้รัฐสภามีมติให้ไปทำประชามติก่อน


ส่วนประชามติจะต้องทำกี่ครั้งก็ยังเป็นความสับสนอยู่ ทำให้เราต้องยื่นญัตติในวันนี้เช่นกัน เพราะยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นทางการว่าต้องทำกี่ครั้ง ดังนั้นองค์กรที่จะชี้ขาดว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง คือศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วก็จะต้องผูกพันทุกองค์กร และเมื่อมีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตตินี้ ตนจะขออภิปรายถึงเหตุผลในการยื่นต่อไป


เมื่อถามว่า มีการมองว่า การยื่นญัตติครั้งนี้เป็นการขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2564 ได้วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2564 เป็นการวินิจฉัยว่า จะต้องให้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเห็นชอบเสียก่อน ในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขั้นตอนเห็นชอบ คือการทำประชามติ ยังไม่มีข้อสรุปว่า ต้องทำกี่ครั้ง


ตนจึงต้องยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะอะไรที่เป็นความคลุมเครือก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยืนยันว่าการยื่นครั้งนี้ไม่ซ้ำซ้อนกับการยื่นครั้งก่อน และแตกต่างกัน เพราะครั้งก่อน เป็นการยื่นโดยที่ยังไม่มีการบรรจุญัตติในที่ประชุมรัฐสภา แต่ครั้งนี้ยื่นหลังจากประธานสภารับญัตติของนายพริษฐ์ และนายวิสุทธิ์ไปแล้ว


“ยืนยันว่า การยื่นครั้งนี้ไม่ใช่เกมสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพวกผมเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกสว. กลุ่มสีขาวไม่มีใครต่อต้าน แต่อยากให้ทำถูกตามขั้นตอน เข้าตามตรอกออกตามประตู เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาภายหลัง การที่บุ่มบ่ามกระทำการใดๆ โดยไม่คำนึงถึงขั้นตอน ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบ เราเป็นวุฒิสภา ต้องมีวุฒิภาวะในการแก้ปัญหา” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว


เมื่อถามว่าอย่างนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทันสมัยการประชุมนี้หรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องไปบอกว่าให้ทันการเลือกตั้งปี 2570 คนที่จะกำหนดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทันปี 2570 ตนคิดว่าน่าจะมีความคิดเผด็จการมากกว่า จะไปทึกทักเอาตามใจได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะทำแบบเล่นขายของ แก้กฎหมายเล็กๆ ไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องบอกว่าให้ทันการเลือกตั้ง เพราะประชาชนไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง มีแต่พรรคการเมืองที่พยายามกำหนดให้ได้ตามใจของตนเอง ให้ทันการเลือกตั้งปี 2570


เมื่อถามว่า มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ เหมือนเป็นการแบ่งกลุ่มออกมาจากสว.สีน้ำเงิน นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า สว.สีน้ำเงินเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าตนมีความคิดอิสระ และไม่มีใครมาควบคุมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ ส่วนสว.สีน้ำเงิน ท่านจะทำอย่างไรก็สุดแล้วแต่ท่าน ตนไม่ก้าวล่วง มีแต่สว.สีน้ำเงินที่มาก้าวล่วงพวกตน


“รู้หรือไม่ครับ มีการบีบให้สมาชิกวุฒิสภาถอนตัวจากญัตตินี้ แต่มีจำนวนหนึ่งที่ถอนตัว ผมก็ไม่ว่า ท่านอาจจะเข้าใจผิด โดยอาจจะเข้าใจถึงขั้นว่าลงชื่อประชุมก็มีความผิด ตรงนี้ผมคิดว่า เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง เพราะการลงชื่อเข้าประชุม เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน และการลงมติในสภา ก็เป็นสิทธิของทุกท่าน ไม่ใช่ว่าลงมติแล้วจะถูกถอดถอน หรือมีความเสี่ยง ผมอยากเตือนคนให้ข้อมูลที่ผิดนี้ ผมขอให้กลับไปอ่านหนังสือเสียใหม่ เพราะมันไม่ใช่ ถ้าคุณไม่เข้าประชุมถือเป็นการไม่รับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน ประชาชนเขาให้มาทำงาน และการทำงานของนักการเมืองคือการเข้าประชุม แล้วจะมีความผิดได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าประชุมถือว่าผิด หากไม่ลงมติ ก็ต้องถามว่าทำไม เพราะสามารถลงมติได้ทั้ง 3 แบบ คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย การที่มาโยนพวกตนให้เข้ากับพรรคการเมือง เป็นการกระทำแบบเก่าๆ ขอให้เลิกทำเสียเถอะ ลูกไม้ทางการเมืองแบบนี้ เด็กอนุบาลก้าวตามทันแล้ว ใครคิดไม่ตรงกับตัวเอง ก็หาว่ามีเบื้องหลัง คนที่กล่าวว่าการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ ผมคิดว่า นั่นแหละที่เป็นการกระทำน่าละอายมากกว่า” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ