เลือกตั้งและการเมือง

“ณัฐวุฒิ” พร้อมญาติคนเสื้อแดง 68 ศพ ยื่นเอกสาร DSI ทวงความยุติธรรมเหตุชุมนุมปี 53

โดย JitrarutP

26 ธ.ค. 2567

127 views

“ณัฐวุฒิ” พาครอบครัวคนเสื้อแดง 68 ศพ จากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 53 ร้อง “ดีเอสไอ“ ขอช่วยไต่สวนคดีการเสียชีวิตที่ยังคงค้าง ยืนยัน ไม่ใช่การรื้อคดี แต่เป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยุติตามกฎหมาย ต้องหาตัวคนทำผิดมารับผิดชอบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ธ.ค. ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พร้อมด้วย นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และญาติผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ไต่สวนหาผู้กระทำความผิดและคืนความยุติธรรมให้ประชาชน โดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ตนมาในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้ร่วมชะตากรรมกับพี่น้องในเหตุการณ์การสูญเสียจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 และมายื่นหนังสือเพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ช่วยดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้มากดดันให้กระทำการนอกเหนือกฎหมาย ซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รวม 99 ราย ได้มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตในชั้นศาลไปแล้ว 31 ราย ส่วน 17 ราย ศาลชี้ว่าประชาชนเสียชีวิตจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ ส่วนอีก 14 ราย ศาลระบุว่าไม่สามารถจะชี้ชัดว่าเสียชีวิตจากบุคคลกลุ่มใดหรือใครกระทำ

นอกจากนี้ ยังคงมีจำนวนร่างผู้เสียชีวิตคงค้างอีก 68 ราย ซึ่งเป็นประชาชนคนไปชุมนุมที่ยังไม่มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาล และเนื่องด้วยการไต่สวนการเสียชีวิตถูกยุติลง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ตรงกับวันรัฐประหารทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาลมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จนเวลาล่วงเข้ามาที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ตนและญาติ ครอบครัวของผู้สูญเสียได้พยายามติดตามประสานงานกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง



พบว่ามีดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จนทราบว่าได้มีการหารือภายในระหว่างสองหน่วยงานไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อตรวจสอบสำนวนคดีต่าง ๆ หรือขั้นตอนทางคดีอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรใดบ้าง จนได้ข้อยุติว่าขณะนี้สำนวนคดีทั้งหมดมารวมอยู่ที่ดีเอสไอแล้ว และถ้าหากเรายืนยันความประสงค์ที่จะให้เดินหน้าตามกฎหมายต่อไป จึงต้องมาตั้งต้นที่ดีเอสไอ และขอให้หลังจากนี้ดีเอสไอได้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ส่วนตนจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหลังยุติไป 10 ปี

นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า เนื่องด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตคงค้างอีก 68 ศพ ที่อาจจะมีขั้นตอนจำนวนมาก ตนจึงประสานไปยังสมาคมสภาทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาช่วยดำเนินการทางขั้นตอนกฎหมาย และการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต มีการเก็บรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดจนมาใช้ยื่นดีเอสไอในวันนี้ ทั้งนี้ ตนหวังว่าความยุติธรรมจะมาถึงชะตากรรมของผู้สูญเสียในที่สุด และขอเรียนบอกพี่น้องประชาชนและบุคคลทางการเมืองทุกฝ่ายว่าเราไม่ได้ทำเรื่องนี้ให้เป็นกระแสทางการเมือง และไม่ได้ทำเพราะมีเจตนาเคืองแค้นส่วนบุคคลแต่อย่างใด

แต่เมื่อมันชัดว่ากฎหมายบัญญัติอย่างไร จึงต้องการให้มันเป็นไปตามกฎหมาย และอยากให้ผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิและกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมเทียมเท่าผู้สูญเสียในคดีอื่น ๆ แต่ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีข้อยุติอย่างไรเราก็เคารพการดำเนินการ ไม่ได้มีความประสงค์จะสร้างพื้นที่เผชิญหน้าทางการเมืองหรือสร้างวิวาทะใด เพราะที่ผ่านมาผู้สูญเสียก็เจ็บปวดกันมามากพอแล้ว และสังคมก็มีบาดแผลจากความขัดแย้งมาเกินพอแล้ว จึงขอให้เรื่องนี้เป็นกระบวนการของศาลและกลไกรัฐที่จะทำให้ความยุติธรรมเดินหน้า

นายณัฐวุฒิ เผยด้วยว่า แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานจะให้บอกว่ามั่นใจตนคงไม่กล้าพูด เพราะ เหตุการณ์ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว แต่เราไม่เคยสิ้นหวัง เราอยู่กันด้วยความหวัง จึงหวังใจว่าในรัฐบาลปัจจุบันจะทำให้เรื่องนี้มีการเดินหน้าก้าวสำคัญไปสู่ความยุติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขอเรียกว่าเป็นการรื้อคดี เพราะมันไม่ได้ถูกเอาไปเก็บไว้ที่ไหนแต่มันถูกหยุดเรื่องเอาไว้ เราเพียงอยากให้เรื่องมันเดินต่อ

ดังนั้น หากใช้คำว่ารื้อคดีจะหมายความว่าที่ผ่านมาเรายอมรับว่ามันจบไปแล้ว แต่สำหรับตนมันไม่เคยจบ เพียงแต่ว่าเรื่องมันหยุดนิ่งโดยไม่มีคำอธิบาย และมีนัยยะสำคัญสำคัญที่เกี่ยวกับอำนาจ เพราะภายหลังการรัฐประหารก็ไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องการไต่สวนการเสียชีวิต และไม่อยากใช้คำว่า “รื้อ” เพราะจะกลายเป็นว่าพวกตนมาทำให้ความขัดแย้งที่ขณะนี้มันก็คงคุกกรุ่นอยู่ จะยิ่งไปเพิ่มเงื่อนไขหรือบรรยากาศหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่มีมันไม่เกี่ยวข้องกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายเท่านั้น

นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า ถึงขณะนี้เรื่องผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์การชุมนุม 2553 ยังไม่ปรากฏที่ศาลไหนเลย ซึ่งในตอนนั้นมีอดีตนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยท่านได้มีการไปฟ้องแย้ง และสู้จนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีการชี้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลอาญา แต่เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงทำให้เรื่องต้องไปตั้งต้นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเราได้ตามไปที่ ป.ป.ช. ปรากฏว่า ป.ป.ช. ไม่มีการชี้มูลความผิดผู้มีอำนาจสั่งการทั้งหลาย ตนจึงเสนอแก้กฎหมายว่ากรณีที่มีความผิดถึงแก่ชีวิตหาก ป.ป.ช.ไม่มีการชี้มูลหรือชี้มูลแล้วแต่อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ให้สิทธิ์ผู้เสียหายหรือญาติโดยตรงของผู้เสียชีวิตฟ้องร้องต่อผู้สั่งการเองได้

นายณัฐวุฒิ เผยอีกว่า สำหรับความคืบหน้าของร่างแก้ไขประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช. ซึ่งได้มีการนำกลับมาทบทวนแก้ไขใหม่ และมีการเข้าชื่อยื่นต่อรัฐสภา ขณะนี้ร่างดังกล่าวผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องด้วยมีเนื้อหาบางส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้รับการตีความว่านี่เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งโดยขั้นตอนจะต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง ทำให้ขณะนี้เรื่องเดินไปถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตนจึงกำลังติดตามความคืบหน้าและเชื่อว่าในเดือน ม.ค.2568 จะผ่านขั้นตอนดังกล่าว แล้วหวังว่าจะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภาโดยเร็ว

ด้าน นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องจากญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 68 ศพ ซึ่งต้องเรียนว่าการตายดังกล่าวเป็นการตายจากการชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงออกมากระทำได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ตาย จึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่จะต้องหาเหตุผลและข้อเท็จจริงเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบว่าการตายดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงจะเกิดจากการชุมนุม แต่กระบวนการทางกฎหมายจะต้องมีการตรวจสอบชันสูตรพลิกศพเพื่อหาเหตุแห่งการตาย เพื่อให้ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตายจากพยานหลักฐาน อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ทางสมาคมฯ ได้รับมานั้นเป็นกรณีที่ญาติพี่น้องของ 68 ศพไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการทางกฎหมาย ที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องการชันสูตรพลิกศพ และการหาคำตอบให้ได้ว่าบุคคลเหล่านี้หรือญาติพี่น้องของคนเหล่านี้ควรได้รับคืนความเป็นธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้มันมีการหยุดและไม่ไปต่อ

ดังนั้น กระบวนการกระบวนการยุติธรรมจึงยังมีข้อสงสัย เราพิจารณาแล้วว่าควรมีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตได้คำตอบระดับหนึ่งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นความเป็นธรรม ควรได้รับการเยียวยา หรือคืนความเป็นธรรมแทนกันสูญเสียอย่างไรได้บ้าง สมาคมฯ จึงมีหน้าที่รวบรวมบุคคลเหล่านี้มายื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างดีเอสไอ ซึ่งเราทราบว่าบางคดีดีเอสไอได้รับไปแล้วแต่กระบวนการยังไม่คืบหน้า เราจึงรับหน้าที่นี้มาและจะทำความจริงให้กระจ่างเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นบทเรียนสำคัญว่าเรื่องนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายธงชัย กล่าวอีกว่า การมาร้องดีเอสไอในวันนี้ เพราะต้องการให้มีการสานต่อเรื่องไต่สวนการเสียชีวิตของจำนวนคงค้างอีก 68 ศพ เพราะมันถูกทำให้หยุด แม้เราทราบรายละเอียดแล้วว่าผู้ตายเป็นใครบ้าง และตายด้วยอาวุธอะไร พฤติการณ์แห่งคดี และบุคคลที่ทำให้ตายจะต้องมีการสอบสวนให้ชัดว่าตายจากสาเหตุอะไร แม้สาเหตุส่วนใหญ่จะมีการระบุว่าเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนแต่ในรายละเอียดการไต่สวนเบื้องต้นไม่ได้ระบุว่าเป็นอาวุธปืนประเภทใด แต่การไต่สวนมันจะทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น เราต้องเคารพพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม หากมีการไต่สวนออกมาแล้วมีข้อยุติอย่างไร เราก็จะเคารพในข้อยุตินั้นของศาล

ขณะที่ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับการยื่นเรื่องของครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อดีเอสไอเพื่อขอให้ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตจากการชุมนุมปี 2553 จำนวน 68 ราย ซึ่งในวันนี้ดีเอสไอได้รับเรื่องไว้เรียบร้อย และจากนี้จะให้กองบริหารคดีพิเศษประมวลเรื่องเพื่อนำเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้กองคดีที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดำเนินการต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News