เลือกตั้งและการเมือง
‘โรม’ ยกเคส ‘เกาหลีใต้’ ประกาศกฎอัยการศึก เป็นโมเดลทบทวนการเมือง-รัฐประหารไทย
โดย petchpawee_k
5 ธ.ค. 2567
28 views
วานนี้ (4 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ในเกาหลีใต้ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก มองว่ามีเหมาะสมหรือไม่ ว่า
ตนคงไม่ลงรายละเอียดสถานการณ์ทั้งหมด ต้องรอให้ข้อมูลสะเด็ดน้ำกว่านี้ แต่ในขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เชื่อว่าทุกคนแปลกใจ ว่าสถานการณ์ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ แต่เราก็รับรู้ภายหลังว่าสถานการณ์การเมืองเกาหลีใต้ อาจมีความขัดแย้งกันพอสมควร และมีความเป็นไปได้ว่าการใช้อำนาจนี้อาจเป็นที่ถกเถียงกัน ว่าอาจจะชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ซึ่งก็เป็นเรื่องภายในของเขา แต่ในความกังวลของคนภายนอกแบบพวกเรา รวมไปถึงนักสังเกตการณ์ต่างๆ ทุกคนกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า สุดท้ายเราจะเห็นการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง ของเกาหลีใต้หรือไม่ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะทันทีที่เกิดขึ้นหากมีการรัฐประหารหรืออะไรตามที่ทุกฝ่ายกังวล ก็อาจทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อาจจะทำให้สถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองอยู่ในระบบของสภาประเทศไทย ก็มีเจตจำนงในการสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็แล้ว ซึ่งกรณีนี้ของเกาหลีใต้ ตนก็สนับสนุนอยากให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นหลักเป็นฐานให้กับประเทศอื่นต่อไป พร้อมย้ำว่า การพูดเรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด แต่เชื่อว่าหากกระบวนการประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง จะส่งผลต่อประเทศอื่นๆที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเช่นเดียวกัน
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อสภาเกาหลีใต้ มีการโหวตคว่ำกฎอัยการศึก ของการใช้อำนาจของประธานาธิบดี สุดท้ายประธานาธิบดีต้องประกาศยุติการใช้กฎอัยการศึก ก็เป็นทิศทางที่ดี ในขณะเดียวกันก็มาย้อนมองตัวเรา ว่าอยากเห็นบรรยากาศแบบนี้ ถ้ายังจำกันได้ตอนที่มีการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เริ่มต้นจากการใช้กฎอัยการศึก ดังนั้นก็หวังว่าประเทศไทยจะมีการจัดการ และดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง และสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน รวมถึงมีวิธีตอบโต้เมื่อมีความพยายามในการใช้อำนาจบางอย่างที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก ที่เป็นกฎหมายโบราณ ให้อำนาจฝ่ายทหารระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ รวมไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ก็ต้องยอมรับว่าการใช้อำนาจพิเศษแบบนี้ไม่ต้องผ่านสภา
โดยตนได้มีการยื่นร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ค้างอยู่ในสภา ซึ่งตอนนี้ลำดับอยู่ต้นๆแล้ว โดยร่างกฎหมายนี้เราพยายามทำให้สภามีอำนาจในการพิจารณา เรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะมีขั้นตอนต่างๆมากมาย ดัวนั้นเราจึงให้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการประกาศได้ 7 วัน แต่ถ้าจะมากกว่า 7 วันก็ต้องขอสภา พร้อมบอกแผน วิธีการต่อสภา ซึ่งวิธีการแบบนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใช้กัน โดยสภาต้องมีอำนาจในการพิจารณา ถ้าสภาไม่อนุมัติก็ตกไป ซึ่งกระบวนการแบบนี้เป็นกระบวนการปกติ ที่เราจะเห็นได้ว่าอำนาจพิเศษไม่ได้อยู่กับฝ่ายบริหารโดยแท้ 100% แต่ต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องขอความยินยอม หรือทำให้สภาสามารถตรวจสอบ หรือดำเนินการบางอย่างได้
“เกาหลีใต้ ได้ทำให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า สภาสามารถที่จะยุติการใช้อำนาจของประธานาธิบดีได้ แต่อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะสุดท้ายเมื่อสภาคว่ำ ประธานาธิบดีก็ต้องรับลูกและประกาศต่อไป เราก็จะเห็นบทบาทของสภามีความเข้มแข็งอย่างมาก เรื่องนี้เป็นโอกาสดีที่จะเอามาทบทวนกลไกภายในของไทย และต้องยอมรับว่าไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง ก็ไม่รู้ว่าครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ ซึ่งผมก็หวังว่าจะไม่มี ดังนั้นก็ควรใช้โอกาสนี้ทบทวนตัวเอง” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีมีนักวิเคราะห์การเมืองบางคน หยิบยกสถานการณ์ของเกาหลีใต้ มาเทียบกับประเทศไทย บริบทต่างกันหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่อยากไปเทียบตรงๆ เพราะตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของเกาหลีใต้ แต่ตนมีความหวั่นใจว่า การใช้กฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้น ก็ดูคลับคล้ายกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกก่อน แต่จะเห็นความแตกต่าง ซึ่งมีข้อมูลแต่ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ดูเหมือนทางทหารของเกาหลีใต้ มีความยั้งๆ อยู่ แล้วจะเห็นว่าภาคประชาชนของเกาหลีใต้ ก็มีความกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องประชาธิปไตยในระดับที่สูงมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เดินหน้า แต่ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารปี 2557 ของไทย ความเข้มแข็งของฝ่ายการเมือง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูเหมือนจะพร้อมใจปฏิบัติและเชื่อฟังในสิ่งที่คณะรัฐประหารกำหนด ถ้าเป็นแบบนี้ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคงเป็นบทเรียนสำคัญที่เราเรียนจากเพื่อนบ้าน และเรียนจากตัวเราเองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
“เรารู้แล้ว การรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยอมรับ และก่อวิกฤติปัญหาจำนวนมาก ซึ่งเราจะเห็นว่าสภาต้องเสนอร่างกฎหมายในการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เวลาและงบประมาณเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องระลึกได้แล้วว่าปัญหาการรัฐประหารแบบนี้ กาาที่ฝ่ายกองทัพจะมาอยู่เหนืออำนาจประชาชนควรจะพอได้แล้ว และหลักการสำคัญของทั่วโลก ถ้าไปประเทศที่เจริญแล้ว คือกองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน ซึ่งก็หวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และทำให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนอย่างแท้จริง” นายรังสิมันต์ กล่าว
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยโพสต์ช้อความระบุว่า ต้องชื่นชมประชาชนเกาหลีใต้และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ทำให้เห็นความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง
การประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะสภาผู้แทนฯ ประชาชนและแม้แต่ฝ่ายบริหารเองเห็นว่าเป็นการทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลและสภา เป็นการฟื้นอำนาจเผด็จการที่ชาวเกาหลีใต้เกลียดชัง จึงมีการต่อต้านคัดค้านอย่างหนักจนในที่สุดการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกไป ส่วนประธานาธิบดี หากไม่ลาออกก็คงจะถูกสภาฯถอดถอนต่อไป
ย้อนหลังไป 40-50 ปีก่อน การเมืองเกาหลีใต้และไทยอยู่ในสภาพที่ล้าหลังคืออยู่ใต้ระบอบเผด็จการคล้ายกัน ประชาชนในทั้งสองประเทศต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคล้ายกัน แต่ทั้งสองประเทศมีพัฒนาการที่ต่างกันอย่างมากจนอาจจะพูดได้ว่าไม่อาจเปรียบเทียบกันได้แล้วด้วยซ้ำ ชาวเกาหลีใต้ได้ร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง ประชาชนทุกหมู่เหล่าเห็นคุณค่าและยึดมั่นในประชาธิปไตยอย่างมั่นคงต่อเนื่องกันมา ส่วนประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานและอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบเผด็จการที่มาถึงปัจจุบันดูจะมีความมั่นคงเข้มแข็งมากกว่ายุคสมัยใดๆ
แม้ว่าสถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังคงต้องจับตามอง ผมขอเป็นกำลังใจให้กับชาวเกาหลีใต้และเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอย่างไร ประชาชนเกาหลีใต้จะช่วยกันรักษาประชาธิปไตยนี้ไว้ได้อย่างมั่นคง
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/x9hjVQuFlDA
แท็กที่เกี่ยวข้อง รังสิมันต์โรม ,เกาหลีใต้ ,กฎอัยการศึก ,รัฐประหาร ,การเมือง