เลือกตั้งและการเมือง
สภากทม. มีมติเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบ วาระเร่งด่วน จัดทำงบฯ จ่ายเพิ่มเติมปี 68 จ่ายหนี้ BTS 1.4 หมื่นล้าน
โดย kanyapak_w
22 พ.ย. 2567
101 views
สภากรุงเทพมหานคร มีมติเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบ วาระเร่งด่วน จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2568 กรณีเบิกงบจ่ายหนี้ BTS 14,000 ล้านบาท หลังศาลปกครองมีคำสั่ง ให้ชำระหนี้ภายใน 180 วัน
ที่ สภากรุงเทพมหานครมีการเปิดประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม ประจำปีพุทธศักราช 2567 เพื่อพิจารณาญัตติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2568 โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนแรกให้กับ บีทีเอส ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎา 2567 ให้จ่ายหนี้เป็นเงินต้น 11,755 ล้านบาท
และส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือน พ.ค. 2562 - พ.ค.2564 โดยในที่ประชุม นี่มติเป็นเอกฉันท์ 37 เสียง เห็นชอบในการตั้ง คณะกรรมการพิจารณาเบิกจ่าย งบประมาณดังกล่าว
ซึ่งบรรยากาศในการประชุมพิจารณาญัตติดังกล่าวสมาชิกสภา กทม. ได้ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายและโต้แย้ง ทั้งในเรื่อง การชี้มูลความผิดของ ปปช. และคำพิพากษาของศาลปกครองที่ถือว่าสิ้นสุดแล้ว รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยรายวันกว่า 2.7 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายสนับสนุนให้ กทม. เร่งชำระหนี้ เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากดำเนินการล่าช้าเกรงว่าจะมีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
ภายหลังการประชุม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุ การตั้งงบประมาณเบิกจ่ายเพิ่มเติมเพื่อชำระหนี้รถไฟรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นไปตามขั้นตอนที่มีการพิจารณาร่วมกันของหลายฝ่ายไม่ได้เร่งดำเนินการเพราะกังวลเรื่องดอกเบี้ยค่าปรับแต่อย่างได้ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีเงินสะสมอยู่ ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการใช้หนี้ โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียดคาดว่าจะสามารถอนุมัติชำระหนี้ได้ก่อนสิ้นปี 2567 จากเดิมที่คำพิพากษาระบุว่าจะต้องชำระหนี้ก่อนวันที่ 21 มกราคม 2568 และเชื่อว่าการชำระหนี้ก้อนนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี จากการที่เอกชนได้นำเงินไปดำเนินธุรกิจต่อ
หลังจากนี้สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อคือยอดมูลค่าหนี้อีก 3 ส่วน คือ ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ให้กทม. และเคที ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 2. ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท และ 3. ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585 ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทั้งหมดต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่ ไม่ให้เกิดข้อฟ้องร้องหรือเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก
อีกประเด็นคือกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหลัก สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุชและสายสีสม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานโครงการ ซึ่งเริ่มให้บริการเดินรถตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2542 ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 4 ธ.ค.2572 ก่อนจะโอนย้ายมาให้กรุงเทพมหานคร ดูแล ทั้งรายได้/การให้บริการ/การซ่อมบำรุง
ทางกรุงเทพมหานครได้พิจารณาตั้งงบประมาณปี 2568 วงเงินประมาณ 27 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหมดสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
แท็กที่เกี่ยวข้อง ข่าวการเมือง ,สภากทม. ,หนี้BTS