เลือกตั้งและการเมือง

ปิดฉากเอเปค นายกฯ ยืนยัน การหารือแลกเปลี่ยนผู้นำในการประชุมเอเปค เป็นประโยชน์กับประชาชน-ประเทศไทย

โดย gamonthip_s

17 พ.ย. 2567

133 views

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ณ โรงแรมสวิสโซเทล ลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมในการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ว่า สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคเป็นครั้งที่ 3 แล้ว อย่างไรก็ดีด้วยเอเปคเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จึงถูกกำชับว่าห้ามเรียกว่าประเทศ แต่ให้เรียกว่าเขตเศรษฐกิจแทน เพื่อให้สมาชิกในเขตเศรษฐกิจทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่แบ่งแยกประเทศ



ในส่วนของประเทศไทยเองก็เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี 2565 ด้วยเช่นกัน ภายใต้แนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular -Green ecocomy ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ก็ยังใช้แนวคิดเดิม โดยมีหัวข้อหลักๆ อาทิ การเสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Include Grow) เพื่อให้สมาชิกเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน



พร้อมเปิดเผยว่า การมาเยือนในครั้งนี้ได้มีการขับเคลื่อนการลงทุน โดยผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA ขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งเสริมในเรื่องของนวัตกรรม ดิจิทัล และการเติบโตที่ยั่งยืน ทั้งหมดจึงตรงกับนโยบายที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่พอดี เพราะขณะนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่เน้นย้ำเรื่องนี้เป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยเองก็เช่นกัน



ส่วนเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกประเทศได้พูดคุยกันถึง Sustainability โดยลงรายละเอียด ว่าจะพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนได้อย่างไร รวมถึงสอบถามอุปสรรคและปัญหาทางภัยธรรมชาติที่เผชิญว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง และจะนำเทคโนโลยี ที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกันมาสนับสนุนได้อย่างไร



สำหรับการประชุมนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders ) ได้คุยกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจและนักธุรกิจในด้านต่างๆ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และ AI ซึ่งหลายบริษัทได้สอบถามว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดไหน จึงตอบไปว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังรับเรื่องการลงทุน เพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ โดยเน้นไปที่เทคโลโลยี AI , Semiconductor และ Data center วันนั้นจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจด้วยกัน 3 บริษัท ประกอบด้วย Tiktok , Microsoft และ Google จึงเสมือนเป็นการต่อยอดให้มาลงทุนเพิ่มเติมกับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยพร้อมจะสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจว่าหากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุน เพราะแท้จริงแล้ว 3 บริษัทดังกล่าวก็มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น



ฉะนั้นหากถามว่าประเทศจะได้อะไรจากการลงทุนในครั้งนี้ แน่นอนว่าการลงทุนอย่าง Data center จะทำให้คนไทยเกิดอาชีพใหม่ๆ และเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าตอนนี้ GDP ของไทยเติบโตไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นการหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้ามาในประเทศ เพื่อให้คนมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงิน 10,000 บาท รายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดภาพรวมและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ



ขณะที่ การเข้าร่วมกรอบการประชุมต่างๆ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยได้แสดงจุดยืนในเรื่องของนโยบายเชิงรุกว่า การศึกษาในไทยรัฐบาลยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่หากติดขัดในเรื่องของภาษา เราก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยขอให้แต่ละบริษัทมีการฝึกอบรมในรูปแบบของภาษาไทยด้วย เพื่อพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไปขณะเดียวกัน ตนก็ได้สร้างความมั่นใจไปว่าไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart farming อย่างแท้จริง



ส่วนการพบหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้พบกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ซึ่งดีมากๆ เพราะเปรูถือเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเอเปคปี 2024 นี้ อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงเหมือนกันด้วย จึงได้มีโอกาสทักทายและพูดคุยกัน พร้อมยืนยันไปด้วยว่า ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-เปรู เนื่องจากเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใคได้ไม่นานจึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยได้อีกด้วย



ส่วนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า เปรูได้มีการนำขนอัลปากามาทำเป็นเสื้อ ขณะที่ไทยมีผ้าไหม จึงต้องหาทางว่าจะทำร่วมกันอย่างไรดี เพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมา ฉะนั้นเรื่องนี้ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณากันต่อ เพื่อนำซอฟต์พาวเวอร์ของทั้งสองประเทศมารวมกัน ให้คนสามารถเข้าถึง เข้าใจได้ง่าย และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง



ทั้งนี้สำหรับการหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พูดคุยเรื่องที่จะร่วมมือกัน เพราะในปีหน้าไทย-จีน จะมีงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์จีน-ไทย ครบรอบ 50 ปี จึงได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาติ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทย เพื่อให้พี่น้องคนไทยสักการะบูชา



นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่จีนจะมอบแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง โอกาสนี้ไทยจึงได้กล่าวชื่นชมประเทศจีนเรื่องลดความยากจนในประเทศว่าทำได้สำเร็จดีมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้โมเดลของจีนต่อไป หากมีอะไรก็สามารถแนะนำมาได้ โดยไทยได้ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะต้องขอความร่วมมือซึ่งกันและกันด้วย ตนจึงได้เปิดโอกาสและขอให้ภาคเอกชนของจีนเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจีนยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS



ก่อนกล่าวทิ้งท้ายถึงการเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์ ว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วม 2 ครั้ง คือ งานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner และ งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จึงได้สร้างความมั่นใจและขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนมาลงทุนที่ประเทศไทย ตลอดทั้งสามวันจึงถือว่าได้ประสบการณ์เป็นอย่างมาก เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งพอได้คุยกันอย่างเป็นการส่วนตัว ก็ได้คุยกันถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันเราก็ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกด้วยว่า พร้อมแล้วสำหรับการลงทุน และความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของเรา และเพื่อนสมาชิก ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันแบบนี้จะทำให้เราสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น โดยในการเจรจาครั้งต่อไปเขาก็จะได้รู้ว่าเรามีตัวตนและมีศักยภาพ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ