เลือกตั้งและการเมือง

กมธ.ถกเข้มปม 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 'โรม' ชี้พบพิรุธอื้อ ข้องใจโยนไปมา ไม่ได้รับความร่วมมือ

โดย petchpawee_k

8 พ.ย. 2567

103 views

กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ ปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 ไร้เงา “บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์” ด้านอดีต รองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ บอก ไม่ทราบรายละเอียดรักษา “ทักษิณ” อยู่ระหว่างลาพักร้อน เตรียมเออร์รี่ฯ รับ มีผู้ต้องขังมารักษาตัว แต่ไม่ทราบมีการบันทึกภาพหรือไม่ ขณะกรมราชทัณฑ์ ยัน การส่งตัวรักษาเป็นไปตามกฎกระทรวง ด้าน กมธ.ซีกเพื่อไทย สอนมวยให้ถามในประเด็น งัดข้อบังคับ ครบองค์หรือไม่

วานนี้ ( 7 พ.ย.) คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มาชี้แจง


โดยมีผู้เข้าร่วมชี้แจง คือ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. พรรคประชาชน พลตำรวจตรี สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ และนายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะที่ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่าจะมาชี้แจง แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ไม่เดินทางมาและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อได้


สำหรับผู้ที่แจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ,พลตำรวจโทโสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโททวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แต่จะส่งเอกสารประกอบการพิจารณาภายหลัง


ด้านนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ หารือว่า การประชุมวันนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ขอให้เปิดให้สื่อมวลชนได้ทำข่าวได้ตลอด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสงสัยข้อเท็จจริงจะได้ไม่เปลี่ยนแปลงไป และจะได้ไม่เป็นการปกปิดในสิ่งที่ทุกคนอยากรู้เช่นกัน


ซึ่งนายรังสิมันต์ บอกว่า เป็นความตั้งใจที่จะให้เปิดให้รับฟัง แต่ผู้ชี้แจงก็อาจจะมีความกังวลในเรื่องของความมั่นคง แต่เมื่อมีผู้เสนอ จึงคิดว่าวันนี้จะเปิดให้สื่อมวลชนได้รับฟัง


นายประยุทธ์ ยังย้ำว่า เป็นเรื่องของผู้ป่วยคนหนึ่ง ถ้าเปิดเผยก็ไม่น่าจะกระทบอะไร ผู้ชี้แจงก็ไม่น่าจะปิดบัง หรือเป็นประเด็นที่ต้องเก็บไว้เป็นความลับ ผู้ป่วยคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ หรือไม่ว่าจะเป็นใคร ก็เปิดเผยได้ เรื่องของความมั่นคงนั้นคงไม่เกี่ยว


ทั้งนี้เมื่อเริ่มประชุม พลตำรวจตรีสรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในการทำงาน ตนเองทำหน้าที่เป็นรองแพทย์ใหญ่รับผิดชอบงานด้านการเงินและบัญชี ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลผู้ป่วยนั้นไม่ทราบ เพราะช่วงนั้นกำลังทำเรื่องยื่นเออร์รี่รีไทร์ ยื่นลาพักผ่อน ซึ่งภารกิจของโรงพยาบาลตำรวจ อย่างกรณีทั่วไป หากเจ้าหน้าที่ส่งตัวมาเมื่อเรารักษาเสร็จก็จะส่งตัวกลับ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยที่ดูแลอยู่


ขณะนายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ซึ่งภารกิจคือดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยของกรมราชทัณฑ์ 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการวิกฤต ก็สามารถส่งต่อผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลอื่นๆ แต่เมื่อหายแล้วก็จะนำกลับ เพราะเกรงว่าจะมีการหลบหนี


ขณะนายแพทย์วาโย สอบถามว่า ที่โรงพยาบาลมีหมอกระดูก ที่เป็นแพทย์ฟูลไทม์และพาร์ทไทม์กี่คน และ กรณีเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยฉีกขาดมีการผ่าตัดกี่ครั้ง และพลตำรวจตรีสรวุฒิ เป็นผู้ผ่าตัดหรือไม่


ด้านนางสาวพรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษากรรมาธิการ สอบถามว่า มีผู้ต้องขังที่เคยถูกส่งตัวมามาพักรักษาตัวข้างนอกอยู่ยาวนานเท่าไหร่ และอยู่จนพ้นโทษเลยหรือไม่ รวมถึงใช้หลักเกณฑ์ใดว่าจะต้องมีการส่งตัวกลับเรือนจำ เพราะนายแพทย์ วัฒน์ชัย ระบุว่า มีความกังวล ว่าจะมีการหลบหนี หรือ แหกคุมขัง และประเมินแบบไหน ทุกกี่วัน มีหลักฐานบันทึกเวชระเบียนหรือไม่ และต้องมีการบันทึกภาพผู้ต้องขัง เพื่อรายงานต้นสังกัดอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ เพราะตนมีประสบการณ์จากการไปเยี่ยมผู้ต้องขังห้องไอซียู จังหวัดสงขลา มีเจ้าหน้าที่เฝ้าอย่างเข้มงวดตลอดเวลา และเป็นผู้ป่วยโคม่าก็ถูกใส่กุญแจมือ ทั้งที่ไม่มีสติ อีกทั้งมีการบันทึกภาพในการควบคุมตัวที่ชั้น 14 และชั้น 14 มีสถานะอย่างไร และมีใครบ้างที่เคยรักษาตัวอยู่ในชั้นนั้นบ้าง


ด้านนายแพทย์สรวุฒิ ชี้แจงว่า มีแพทย์ทำงาน 4 ท่านเป็นแพทย์ประจำ ส่วนแพทย์พาร์ทไทม์นั้นไม่แน่ใจ ตนเองเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้ทำการผ่าตัดนายทักษิณ เพราะตนได้ออกจากราชการไปแล้ว ช่วงนั้นตนลาไป 3 สัปดาห์ ดังนั้นในรายละเอียด ตนจึงไม่ทราบ


ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า การอนุญาตให้ผู้ป่วยออกไปรักษาข้างนอก เป็นไปตามกฎกระทรวงปี 2563 ที่ระบุว่าหากมีผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยป่วย และพิจารณาแล้วเห็นว่าต้องส่งตัว ไปรักษาภายนอก เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำ และ ยังระบุว่าต้องส่งโดยเร็ว ซึ่งคำนึงถึงอาการเจ็บป่วยเป็นหลัก ไม่ให้เกิดเหตุพิการหรือเสียชีวิต ส่วนกรณีของนายทักษิณเป็นการส่งต่อจากเรือนจำไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้


ทำให้ นายรังสิมันต์ สอบถามว่า ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการประเมินอย่างไรว่า อดีตนายกรัฐมนตรีจะต้องมีการส่งตัวโรงพยาบาล


ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจง ว่าในช่วงกลางคืนมีปัญหา เนื่องจากพบว่ามีอาการแน่นหน้าอก มีความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีภาวะระดับออกซิเจนต่ำ


ด้านนายปิยรัฐ จงเทพ สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า การที่เรือนจำจะส่งผู้ต้องขังที่ป่วยออกไปรักษาตัวข้างนอกเป็นเรื่องยากมาก ตนเคยเห็นผู้ต้องขังเสียชีวิตกับตา มาแล้ว ซึ่งการย้ายผู้ป่วย ได้แจ้งศาลหรือไม่ เพราะกรณีแบบนี้จะต้องมีการแจ้งศาล ซึ่งหลังจากที่ได้มีการซักถามกันไปมา นายประยุทธ์ สส.เพื่อไทย แย้งต่อที่ประชุม ว่าหากมีการซักถามแบบนี้ ก็จะไม่มีอะไรคืบหน้า วนเวียนอยู่แค่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ สิ่งที่สังคมอยากรู้คือเรื่องชั้น 14 กฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 89 (1) มากกว่า จึงขอให้ถามอยู่ในประเด็น พร้อมบอกตนชี้โพรงให้ ซึ่งนายรังสิมันต์ กล่าวว่า อยากให้สะเด็ดน้ำ ซึ่งไม่ง่ายหลังจากดูจำนวนผู้ชี้แจง


ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังชี้แจงว่า การรักษาในเรือนจำเรามีสถานพยาบาลในเรือนจำ เมื่อพิจารณาว่า จะต้องส่งตัวไปรักษาข้างนอกส่วนใหญ่เป็นพยาบาลที่อยู่ในเรือนจำ หรือนายแพทย์ข้างนอกที่เข้ามาปฎิบัติหน้าที่มาช่วยตรวจ หลังจากตรวจแล้วพยาบาลจะเป็นผู้ประสานถ้าเคสเร่งด่วน เป็นการปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศในเรือนจำ ส่วนสาเหตุส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่กรมราชทัณฑ์ส่งผู้ต้องขังไปมากที่สุด


อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ยังชี้แจงเรื่องโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เป็นห้องวีไอพีหรือไม่ และจำนวนวันที่พักรักษาตัว ว่า ไม่ทราบข้อมูล ซึ่งอยู่ที่อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค ซึ่งหากมีปัญหาก็ต้องรักษายาวต่อเนื่อง ส่วนจะอยู่จนสิ้นสุดหรือไม่ ไม่ทราบข้อมูลตรงนี้และไม่เคยขึ้นไปทำการรักษาที่ชั้น 14


สำหรับการประเมินเพื่อส่งตัวกลับเมื่ออาการทุเลาอยู่ที่แพทย์ผู้รักษา ซึ่งหากเห็นว่ามีความจำเป็นให้รักษาต่อก็บันทึกการรักษาอยู่แล้ว ส่วนมีการบันทึกภาพหรือไม่นั้น ไม่เห็น และจากประสบการณ์มีการบันทึกภาพหรือไม่นั้น ไม่ทราบ ไม่เคยเข้าไปดูว่ามีรายละเอียด


นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กรณีการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่า มีความเสี่ยง จึงส่งตัว เนื่องจากตอนดึก นายทักษิณมีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำ กรณีมีผู้ป่วยต้องออกไปรักษาตัวด้านนอก ต้องส่งโดยเร็ว ป้องกันเหตุพิการ เสียชีวิต ศักยภาพของโรงพยาบาลในการรักษาด้านโรคหัวใจนั้น เรามีเครื่องมือการแพทย์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก การสวนหัวใจไม่สามารถทำได้ ต้องส่งต่อ


นพ.วัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวด้านนอก ถ้าเป็นในเวลา เป็นหน้าที่ของแพทย์ในเรือนจำ แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นผู้ประเมิน ไม่มีแพทย์คนใดเข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดนนอกเวลา แต่พยาบาลก็มีทักษะประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด ส่วนการประเมินว่า ต้องได้รับการรักษาตัวต่อนั้น เป็นหน้าที่แพทย์ผู้รักษาของโรงพยาบาลตำรวจ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ว่า เหตุใดควรต้องรักษาตัวต่อ ส่วนเรื่องจำนวนวันที่ต้องรักษาตัว ตนไม่ทราบ


นพ.วัฒน์ชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องค่าห้องและค่ารักษานายทักษิณนั้น อยู่ที่ 8,500 บาทต่อวัน รวมค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้จ่าย แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล จะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยืนยันว่ากรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

------------------------------------

รังสิมันต์ โรม เผย หลังถกปม ทักษิณ รักษาตัวชั้น14 พบพิรุธเคลือบแคลงสงสัย ใช้เวลา 21 นาที ส่งตัวรพ.ตำรวจ โยนกันไปมาใช้ดุลพินิจใครให้ไปรักษา จี้ ถามค่ารักษากว่า 1 ล้านบาทใครจ่าย ยันเดินหน้าแสวงหาข้อเท็จจริงต่อ


นายรังสิมันต์ โรม สส. พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการประชุมหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มาชี้แจง ว่า ในวันนี้พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงให้มากที่สุด โดยพยามตั้งประเด็น 1.การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 เป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ และ 2. การเข้าพักรักษาระยะยาวจนพ้นโทษการตัดสินใจของผู้ใด ถูกต้องทางการแพทย์และกฎหมายหรือไม่ และ 3. สิ่งที่ตามมาคือกาคพ้นโทษจนถึงปัจจุบันมีปัญหาในเชิงความชอบด้วยกฏหมายอะไรบ้าง ที่มีการพิจารณา


พร้อมยอมรับว่าในประเด็นที่ 1-2 มีปัญหามากในการพิจารณา แต่ประเด็นหนึ่งที่ชี้แจงได้ กรณีนายทักษิณป่วย มีอาการแน่นหน้าอกและที่สถานพยาบาล แต่ข้อมูลที่ได้รับมา คือ คนที่ประเมินสุขภาพของนายทักษิณเป็นเพียงพยาบาล โดยนายทักษิณไม่ได้ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เลย ส่วนแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้มีโอกาสพิจารณาตรวจวินิจฉัยสุขภาพของนายทักษิณ จึงเป็นข้อเคลือบแคลงถึงกระบวนการ เพราะระยะเวลาดังกล่าวนี้ใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น และการส่งตัวนายทักษิณดำเนินการโดยผู้อำนวยการเรือนจำ จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดบทบาทของแพทย์จึงน้อยมาก ในการให้ความเห็นในเรื่องนี้ สุดท้ายกลายเป็นเรื่องโยนกันไปโยนกันมา และไม่ทราบว่าการตัดสินใจให้นายทักษิณรักษาตัวอยู่ในดุลพินิจตัดสินใจของใคร


“กลายเป็นแค่ คุณพยาบาลที่อยู่สถานพยาบาลโทรไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชสถานเพื่อปรึกษา และหลังจากนั้นมีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการโทรไปในลักษณะดังกล่าว เรียนตามตรงว่าเราไม่เคยทราบมาก่อนพยายามจะตรวจสอบว่าเป็นกระบวนการปกติหรือไม่ พยายามขอแนวทางและวิธีการ เพราะไม่ใช่กรณีของนายทักษิณเพียงคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่จะเจ็บป่วยและต้องการเข้าถึงทางการแพทย์ที่ฉุกเฉินเช่นเดียวกันแต่เราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน”


นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ยังเกิดข้อเคลือบแคลงว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ หรือมีส่วนในการตัดสินใจในการรักษาเพราะความรับผิดชอบไม่ได้อยู่เพียงแค่หน่วยงานราชการ แต่หมายถึงนายทักษิณ เกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทบางอย่าง ทำให้เกิดการหลงเชื่อว่ามีความเจ็บป่วยและทำให้ผลของการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ กลายเป็นว่าสุดท้ายนายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการอยู่ด้วยความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงยืนยันที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป


ขณะเดียวกันได้รับข้อมูลจากเลขานุการของกรรมาธิการว่า ปกติการอยู่โรงพยาบาลตำรวจรักษาห้องพิเศษ จะมีค่าใช้จ่าย 8,500 บาท และเป็นไปได้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 1 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าหน่วยใดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายซึ่งขณะนี้ไม่ได้คำตอบรวมถึงเวชระเบียนการรักษา และข้อมูลการรักษาก็ไม่มีผู้ใดที่จะให้ข้อมูลตอบคำถามได้


“ทั้งหมดทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ปรากฏชัดเจนต่อกรรมาธิการ แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนในวันนี้คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเป็นเรื่องที่มีพิรุธ และเป็นเรื่องที่ตลอดการทำหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการความมั่นคง ประชุม 53 ครั้งคิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ได้รับความร่วมมือที่น้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ และเป็นครั้งที่หน่วยงานราชการไม่อยากตอบอะไรกับกรรมการทำให้ความสงสัยที่สังคมมีอยู่กับกรณีชั้น 14 ยังคงอยู่ต่อไป”


นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าในการประชุมครั้งหน้าจะเชิญใครมาชี้แจง เพราะยังอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม แต่กำลังพิจารณาว่าการประชุมครั้งหน้าจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้อีกหรือไม่ จะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เบื้องต้นยังมีอีกหลายหน่วยงานเห็นว่าควรมีการพูดคุย เช่น แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่แจ้งว่ายินดีที่จะให้ข้อมูลในครั้งต่อไป หรือประธานอนุในการกลั่นกรองจริยธรรมของแพทยสภา อาจจะมีเวลาไม่ตรงกันจะพิจารณาหาเวลาอีกครั้งหนึ่ง หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์มองว่าจะต้องมีการชี้แจงในเรื่องนี้ และยืนยันว่ามีความจำเป็นที่จะแสวงหาข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป


คุณอาจสนใจ

Related News