เลือกตั้งและการเมือง
คมนาคม-สธ. ยกระดับความปลอดภัยทางถนน จ่อออกระเบียบไม่สวมหมวกกันน็อก กักตัว 1 ชม. ค่อยปรับ
โดย passamon_a
7 พ.ย. 2567
31 views
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 ที่กระทรวงคมนาคม (คม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ คม. เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัด คม. โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นายฌอง ท็อด ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมร่วมแถลงเปิดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนนของสหประชาชาติ ภายใต้แคมเปญ # makeAsafetyStatement
นายสุริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญ หน่วยงานรัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา ล่าสุด รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนปี 2566 ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนน 25 คนต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่ายังเป็นประเด็นท้าทายที่ถูกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่มีเป้าหมายลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และให้เป็นไปตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570
นายสุริยะ กล่าวว่า คม. เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงเร่งผลักดันการดำเนินงานให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ เช่น ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ การพัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุทางถนน นำมาซึ่งความร่วมมือกับ สธ.ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เพื่อยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถให้มีคุณภาพ โดยจะนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริการประชาชน พิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรับรองการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถ อีกทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของไทย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 18,000 ราย พิการกว่า 10,000 รายต่อปี และบาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ในด้านการเยียวยารักษาพยาบาล สธ.มุ่งมั่นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยที่ผ่านมา สธ. ได้รณรงค์ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท และจัดให้มีโครงการขับขี่ปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ เพื่อตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ จึงตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนคลินิกอาชีวเวชกรรม สู่การเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive) ให้ได้อย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2568
ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดในการจัดทำใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานพยาบาลเข้าสู่ระบบออนไลน์มาถึงหน่วยงานของ คม. เพื่อช่วยบริการในเรื่องของการออกใบอนุญาตขับขี่
เมื่อถามถึงการออกใบรับรองแพทย์เพื่อทำใบขับขี่ ปัจจุบันมีเรื่องของการซื้อขายใบรับรองแพทย์ในราคาถูกเพื่อนำไปใช้ประกอบการออกใบขับขี่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ สธ.สามารถทำได้ในเรื่องของการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ แต่ติดปัญหาเรื่องใบขับขี่ตลอดชีพ ที่เป็นสิทธิของประชาชนที่ได้รับไปแล้ว
“แต่ขณะนี้ ควรจะต้องเป็นการออกใบขับขี่ที่ต้องต่ออายุทุก 5 ปี พร้อมกับการตรวจสุขภาพที่เข้มข้นขึ้น และส่งต่อข้อมูลไปยัง คม.อย่างรวดเร็ว ซึ่งในการตรวจสุขภาพจะมีการตรวจเรื่องของความสมบูรณ์ทางร่างกายและโรคประจำตัว ส่วนเรื่องการซื้อใบรับรองแพทย์เพื่อออกใบขับขี่ ไปซื้อมาแล้วก็ติดคุกทั้งคนซื้อและหมอ นี่คือปัญหาที่เราได้ทำบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อหามาตรการ ซึ่งจะออกเป็นกฎหมายและระเบียบ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เผื่อจะต้องเขียนมาตรฐานเรื่องการตรวจสุขภาพขึ้นมาใหม่” นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายสุริยะ กล่าวว่า คม.มีความร่วมมือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เบื้องต้นได้หารือกันในเรื่องของการซื้อจักรยานยนต์ 1 คัน ควรต้องแถมหมวกนิรภัย (กันน็อก) 2 ใบ ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่แถมให้ 1 ใบ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้
“นอกจากนั้น หารือร่วมกับตำรวจ เมื่อพบกรณีขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อก เบื้องต้นก็จะยังไม่ให้ปรับโดยทันที แต่จะให้นั่งรอ หรือเชิญไปโรงพัก เพื่อนั่งรอไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เชื่อว่าตรงนี้ถ้าเกิดความไม่สะดวกขึ้น หลังจากนี้ผู้ขับขี่จะสวมหมวกกันน็อกกันมากขึ้น” นายสุริยะ กล่าว
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/o6kiC1uEPK0
แท็กที่เกี่ยวข้อง ความปลอดภัยทางถนน ,กระทรวงคมนาคม ,กระทรวงสาธารณสุข ,ไม่สวมหมวกกันน็อก